xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เร่งรถไฟฟ้าสีส้ม เปิดประมูล เม.ย.นี้-ตอกเข็มกลาง 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟม.ตั้ง กก.มาตรา 36 เร่งเปิดประมูลสายสีส้ม 1.2 แสนล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดเซ็นสัญญาปลายปี 63 ตอกเข็มกลางปี 64 พร้อมทบทวนปรับค่าโดยสารสีน้ำเงิน สั่งหาทางเลือกช่วยลดค่าครองชีพ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด รฟม.วานนี้ (12 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติ เห็นชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โดยได้เร่งรัดให้ รฟม.ปรับแผนการดำเนินโครงการให้เร็วขึ้นประมาณ 3 เดือนเพื่อเร่งรัดการลงทุน

ทบทวนปรับค่าโดยสารสีน้ำเงิน สั่งหามาตรการลดค่าครองชีพก่อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาตามที่ รฟม.เสนอการปรับอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อัตรา 1 บาท ในบางสถานีซึ่งเป็นการปรับค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานที่กำหนดปรับทุก 2 ปีตาม ดัชนีผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะครบในวันที่ ‪3 ก.ค. 2563‬ นั้น โดยที่ประชุมบอร์ดเห็นว่าข้อมูลรายละเอียดยังไม่ครบถ้วน โดยให้ รฟม.ไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของ รฟม.กับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยถูกมองว่าราคาแพงกว่าที่อื่น รวมทั้งให้ รฟม.ไปเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) หามาตรการช่วยเหลือผู้โดยสารด้วย

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุน ปี 2562 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง รฟม.เป็นประธาน คาดว่าจะนัดประชุมครั้งแรกภายใน 2 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้ รฟม.ได้ปรับแผนงานโครงการให้เร็วขึ้น 3 เดือน เพื่อให้ได้ตัวผู้รับจ้างเร็วที่สุด เพื่อให้การลงทุนโครงการสายสีส้มช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทั้งเชื้อไวรัสโคโรนา และการท่องเที่ยวที่ถดถอย

โดยตั้งเป้าจะสามารถประกาศร่างทีโออาร์ เปิดประกวดราคาคัดเลือกเอกชนได้ภายในเดือน เม.ย. 63 ให้เวลาในการทำข้อเสนอ 60 วัน ยื่นข้อเสนอในเดือน ก.ค. คาดว่าจะเจรจากับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ย. 63 และลงนามสัญญาจ้างภายในปี 2563 และเริ่มก่อสร้างช่วงกลางปี 2564 ในขณะเดียวกัน รฟม.อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน เพื่อนำเสนอ ครม.ในทางคู่ขนานด้วย

นายภคพงศ์กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาจ้างจะมีเวลาให้เอกชนออกแบบก่อสร้างอีก 4 เดือน และหากสามารถ เริ่มการก่อสร้างได้ในกลางปี 64 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี ซึ่งตามแผนจะเปิดเดินรถในส่วนของตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ก่อน ในปี 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 250,000 คนต่อวัน โดยขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้า 51% หลังจากลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้วเอกชนสามารถสั่งผลิตชิ้นส่วนและขบวนรถไฟฟ้าได้ทันที เนื่องจากใช้เวลาผลิตอีก 2 ปี

ส่วนสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2570 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มเป็น 500,000 คนต่อวัน โดยใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด 40 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้


กำลังโหลดความคิดเห็น