xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าสีส้ม 1.28 แสนล้าน คาดประมูล PPP ต.ค. 63 ดึงเอกชนรับสัมปทาน 30 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดึงเอกชนร่วมลงทุน PPP มูลค่า 1.28 แสน ล. รับสัมปทานบริหารเดินรถตลอดสาย 30 ปี คาด รฟม.เปิดประมูล ต.ค. 63 ขณะที่เร่งก่อสร้างส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เร่งเปิดเดินรถก่อนในปี 66

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ม.ค. มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP ) เห็นชอบ รูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี โดยหลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ปี 2556) ต่อไป

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ครม.ที่ประชุมอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการส่วนตะวันตก ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธาและระบบ โดยรัฐจะทยอยจ่ายคืนระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และเอกชนบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทางเส้นทางตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ถึงมีนบุรี มีระยะเวลา 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่ง รฟม.จะประกาศคัดเลือกเอกชนภายในเดือน ต.ค.นี้ และสรุปผลประมูลต้นปี 2564


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงิน (Subsidy) แก่เอกชนในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถและงานเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาของโครงการฯ

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ในกรอบวงเงิน 14,661 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินจริง และอนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุนให้เอกชนตามที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินค่างานโยธา ส่วนตะวันตก จำนวน 96,012 ล้านบาท โดยรัฐทยอยชำระคืนให้เอกชนหลังจากเปิดเดินรถทั้งเส้นทางแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี กำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย โดยใช้อัตราส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กม. (ใต้ดินตลอดสาย) จำนวน 11 สถานี มีค่าก่อสร้างงานโยธา/ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมูลค่า 14,661 ล้านบาท มีพื้นที่เวนคืน รวม 505 แปลง (41 ไร่ 1 งาน 96 ตร.ว.) รวม 331 หลัง ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งโครงการด้านตะวันออก-ตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กม. (ใต้ดิน 27 กม. + ยกระดับ 8.9 กม.) วงเงิน 32,116 ล้านบาท


ส่วนสายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. (ใต้ดิน 13.6 กม. + ยกระดับ 8.9 กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 และจะเปิดให้บริการได้ก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 121,599 คน/เที่ยว/วัน (ปี 2566) ส่วนด้านตะวันตกคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 439,736 คน/เที่ยว/วัน (เปิดให้บริการในปี 2569)


กำลังโหลดความคิดเห็น