xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมสรุปเดินรถสายสีส้ม รฟม.ชงบอร์ด 22 มิ.ย.เคาะประมูล PPP กว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.ชงบอร์ด 22 มิ.ย.นี้เคาะแผนร่วมทุน PPP-Net Cost เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) กว่าแสนล้าน พร้อมบริหารเดินรถตลอดสายตะวันออก-ตะวันตก ส่วนเดินรถสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) คาดสรุปเร็วๆ นี้ ยันใช้ PPP-Gross Cost เหมือนสีม่วงเหนือ (เตาปูน-บางใหญ่) ลุ้น กก.35 เคาะประมูลหรือเจรจา
 
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอผลการศึกษาแผนการร่วมทุน (PPP) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่จะประชุมในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ โดยจะใช้รูปแบบ PPP ประเภท Net Cost คือ การให้เอกชนลงทุน บริหารโครงการ จัดเก็บรายได้ และแบ่งรายได้ให้รัฐ และลดความเสี่ยงของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะมีผู้รับงาน 1 ราย รับผิดชอบทั้งงานโยธา วางระบบ จัดหารถไฟฟ้า และเดินรถสายสีส้ม ทั้งด้านตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) และด้านตะวันตก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) โดยหลังจากบอร์ดเห็นชอบจะเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป  

รถไฟฟ้าสายสีส้มในด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กม. วงเงิน  79,221 ล้านบาท ขณะนี้ได้ก่อสร้างงานโยธาแล้ว ส่วนด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท โดยมีค่างานโยธา 85,288.54 ล้านบาทนั้นจะรวมอยู่ในการร่วมลงทุน PPP ก่อสร้างและเดินรถ
 
ส่วนการศึกษารูปแบบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม.นั้นขณะนี้การศึกษายังไม่เสร็จเบื้องต้นจะใช้รูปแบบ PPP ประเภท Gross Cost คือการลงทุนแบบเอกชนร่วมทุน โดยรัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถให้เอกชน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับสายสีม่วงเหนือ ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากมีเดปโป้หลักที่คลองบางไผ่แห่งเดียว

ส่วนหลักการสำคัญคือ จะต้องสามารถบริหารการเดินรถได้ตลอดสายทั้งสายสีม่วงเหนือ และสายสีม่วงใต้ หมายถึงหากผู้เดินรถเป็นคนละรายจะต้องกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขที่สามารถให้รถของทั้ง 2 ผู้ประกอบการสามารถวิ่งทะลุกันได้ตลอดสาย โดยคณะกรรมการมาตรา 35 จะต้องพิจารณารูปแบบการคัดเลือกต่อไป เพื่อเลือกแนวทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด

“กรณีที่ให้เปิดประมูลและได้ผู้ประกอบรายใหม่ จะต้องมีการเปิดระบบอาณัติสัญญาณเพื่อให้รถวิ่งแบบต่อเนื่อง (Through Operation) ซึ่งในขบวนรถสายม่วงเหนือและสายม่วงใต้จะต้องติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณกลาง ทำให้มีการลงทุนเพิ่มเติมซ้ำซ้อนกว่าการเป็นผู้เดินรถรายเดียวตลอดสาย ซึ่งคณะกรรมการมาตรา 35 จะพิจารณาความเหมาะสมในขั้นตอนต่อไประหว่างการประมูลหรือใช้รูปแบบเจรจา”


กำลังโหลดความคิดเห็น