รถไฟฯ เข็นผู้รับเหมาเร่งสปีดก่อสร้างสายสีแดง ลั่นงานโยธาต้องเสร็จ ในพ.ย. 62 งานระบบเสร็จมิ.ย. 63 ทดสอบ 3 เดือนเปิดเดินรถ ต.ค. 63 คาดค่าโดยสาร 14-45 บ. ผู้โดยสารเริ่มต้น 5 หมื่นคน/วัน มั่นใจ บ.เดินรถสีแดง คุ้มทุนใน 5 ปี และมีกำไรอยู่รอดตั้งแต่ปีที่ 6 ซึ่งผดส.จะแตะ 1-1.2 แสนคน/วัน เล็งคัดเลือกคนรถไฟและแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นชุดแรก
วันนี้ (25 พ.ค. 61) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าการก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต โดยระบุว่า ขณะนี้การก่อสร้างยังมีความล่าช้ากว่าแผนที่ปรับใหม่โดย สัญญาที่ 1 เป็นงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง คืบหน้า 69.31 %สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต คืบหน้า 97.94 % และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ คืบหน้า 26.71% ซึ่งได้กำชับผู้รับจ้าง ที่ปรึกษา ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเร่งรัดงาน ไม่ให้ล่าช้าไปกว่านี้เนื่องจากกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์คือในเดือนต.ค. 2563 ซึ่งสัญญา 3 งานระบบและตัวรถจะเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากเริ่มทีหลัง ขณะที่งานโยธาสัญญา 1 ,2 จะเสร็จในเดือนพ.ย. 2562 จากนั้นจะเป็นการทดสอบระบบ การเดินรถ ใช้เวลา 3 เดือนพอดี
ส่วนตัวรถไฟฟ้า จะมีจำนวน 130 ตู้ ซึ่งสัญญา 3 ซึ่งมีกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation เป็นผู้รับจ้าง มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท นั้น จะมีรถไฟฟ้ารวม 130 ตู้ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบแบบคาดว่าจะเริ่มการผลิตรถได้ในเดือนก.ค. 2561 และจะทยอยส่งมอบครบ ในปลายปี 2562 ซึ่งจะจัดเดินรถ ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน82 ตู้ โดยจะเป็น 2 รูปแบบคือ แบบ4 ตู้/ขบวน จำนวน 10 ขบวน และแบบ 6 ตู้/ขบวน จำนวน 7 ขบวน ส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 48 ตู้ รูปแบบ 6 ตู้/ขบวน จำนวน 8 ขบวน โดยชานชาลาของสายสีแดงสามารถรองรับได้ถึง 10 ตู้
ยุบ บ.แอร์พอร์ตลิงก์ คัดคนโอนเข้าบ.เดินรถสีแดง
ในเรื่องการบริหารการเดินรถไฟสายสีแดงนั้น จะอัพเกรด บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ขึ้นมาโดยเพิ่มขอบเขตงานและทุนจดทะเบียน เป็น 3,000 ล้านบาท โดยจะสรุปรายละเอียด การตั้งบริษัทเดินรถไฟสายสีแดง เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ในการประชุมวันที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมและครม.ต่อไป หลักการตอนนี้ บ.แอร์พอร์ตลิกง์ปัจจุบันจะต้องยุบภายใน 2 ปี ซึ่งในช่วงนี้จะมีการถ่ายโอนบุคลากร ไปยังบริษัท เดินรถสายสีแดง ซึ่งต้องการบุคลากรประมาณ 600 คน
“บ.สายสีแดง เริ่มต้นจะคัดกรองจากพนักงานการรถไฟฯ และแอร์พอร์ตลิงก์ และรับจากภายนอกเพิ่มเติม ซึ่งกรณีเป็นคนจากรถไฟฯและแอร์พอร์ตลิงก์เดิม จะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ และพนักงานรถไฟฯ ต้องลาออกจากรถไฟไปบริษัทใหม่ แต่ทั้งนี้ อาจจะให้สิทธิพิเศษ ภายใน 2 ปี ยังสามารถย้ายกลับมาอยู่การรถไฟฯได้ ส่วนส่วน ซีอีโอ บ.เดินรถสีแดงจะเปิดสรรหาฯ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้ จะสอดคล้องกับการที่ ผู้บริหารรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะเข้ามารับมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์” นายวรวุฒิกล่าว
เปิดปี 63 ค่าโดยสาร 14-45 บาท คาดมีผู้โดยสาร 5 หมื่นคนต่อวัน
ทั้งนี้ จากการศึกษาประเมินว่า สายสีแดงจะคุ้มทุน ที่จำนวนผู้โดยสาร เฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน ซึ่ง ในปีแรกที่เปิดให้บริการ คาดว่าว่าจะมีผู้โดยสารเริ่มต้นที่ 5 หมื่นคนต่อวัน และเพิ่มเป็น 1.2 แสนคนต่อวันในปีที่ 5 โดยกำหนดอัตราค่าโดยสาร 14-45 บาท หรือค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 32-34 บาทต่อคนต่อเที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลที่จะทำให้บริษัทเดินรถสายสีแดง ถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไรตามเป้าหมายประมาณปีที่ 6-7 โดยจะสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินรถสายสีแดงทั้งหมดนำเสนอบอร์ดร.ฟ.ท.ในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับ รถไฟสายสีแดงจะ มีสถานีกลางบางซื่อ เป็นชุมทางของการเดินรถ โดยจะเป็นศูนย์กลางของรถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง ที่จะวิ่งออกไป แนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก นอกจากนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่แนวของสีน้ำเงินจะเชื่อมกับสายสีเขียวที่ สถานีหมอชิต และต่อสายสีม่วงที่เตาปูน ส่วนสีชมพู จะเชื่อมกับสีแดง ที่หลักสี่ การเดินทางด้วยรถไฟทุกสาย จะเชื่อมต่อกันได้หมด จะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ในอนาคตเพราะมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น
โดยการก่อสร้างตัวสถานีกลางบางซื่อจะเสร็จสมบูรณ์ พ.ย. 2562 โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 49.31 %
จ่อประมูลพัฒนาแปลง A บางซื่อ กว่า 1.1 หมื่นล.เปิดบริการเฟสแรกปี 63
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในการพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A (ขนาดพื้นที่ประมาณ 32 ไร่) บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีมูลค่าลงทุนก่อสร้างประมาณ 11,573.56 ล้านบาท อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ดำเนินการคัดเลือกซึ่งตั้งเป้าให้ได้เอกชนเข้ามาพัฒนาปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 62เนื่องจากจะต้องให้เวลาในการส่งมอบพื้นที่เปล่าให้เอกชนไปออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง การเสนอขอ EIA ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง คาดว่า เฟสแรกจะเร่งเปิดได้ทันกับเปิดสถานีกลางบางซื่อ