xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ร่างแผนแม่บทพัฒนา “ท่าเรือบก” รวมศูนย์นำเข้า-ส่งออกดันไทยฮับลอจิสติกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางวิไลรัตน์  ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ร่างแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ศูนย์ขนส่งนำเข้าส่งออกสินค้าคอนเทนเนอร์ ดันไทยเป็นฮับศูนย์กลางลอจิสติกส์ของ CLMV เล็งทำเลแนวรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือ คาดเปิดร่วมทุน PPP ขณะที่เอกชนแนะรัฐประเมินความคุ้มค่า หวั่นขนส่งหลายต่อ กระทบต้นทุน และประสิทธิภาพการแข่งขัน

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดสัมมนาประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) มุ่งตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านผ่านประตูการค้าหลัก (ท่าเรือแหลมฉบัง) ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยได้ตั้งงบศึกษาปี 2561 วงเงิน 7 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษา 8 เดือน (มี.ค.-พ.ย. 61) ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงต้นการศึกษาที่ต้องมีการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดเลือกพื้นที่ รูปแบบการลงทุนและวิธีการบริหารจัดการ คาดว่าจะเป็นการร่วมทุนรัฐกับเอกชน (PPP) เนื่องจากมูลค่าลงทุนค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ ท่าเรือบก เป็นโรงพักสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก กิจกรรมการให้บริการเหมือนกับไอซีดีลาดกระบัง รองรับสินค้าในรูปแบบคอนเทนเนอร์ โดยตั้งอยู่ตอนในของประเทศ เป็นศูนย์บริการลอจิสติกส์ทำหน้าที่เหมือนท่าเรือ สามารถดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าและพิธีการศุลกากรจุดเดียว เป้าหมายเพื่อลดเวลาและขั้นตอน ลดปริมาณจราจรบนถนน เพราะเน้นการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือ ดังนั้นจะเลือกพื้นที่มด ต้องวิเคราะห์ข้อมูลการขนส่งสินค้า แหล่งผลิต อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ต้นทุนการขนส่ง ระยะทาง เวลา ความปลอดภัย รวมถึงปัจจัยทางการค้า และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ส่วนหน่วยงานที่จะดำเนินโครงการเป็นไปได้ทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รวมถึงผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ ซึ่งจะประเมินในขั้นต่อไป โดยการศึกษาเบื้องต้นพบว่า พื้นที่เหมาะสมต้องมีไม่น้อยกว่า 1,300 ไร่ เพื่อรองรับการเตจิบโตในอนาคต ดังนั้น ต้องมีการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินร่วมด้วย โดยอยู่ห่างจากท่าเรือ 100-300 กม. ห่างจากแหล่งผลิต 50-100 กม. สามารถเชื่อมกับระบบรางและถนนได้สะดวก

ด้านนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานกรรมการ บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด กล่าวว่า การบริหารจัดการโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้ผู้ใช้บริการมีต้นทุนที่ต่ำจะทำให้ไทยเป็นโลจิติกส์ฮับของภูมิภาคได้ ส่วนพื้นที่นั้นควรศึกษาที่บริเวณจุดใกล้ชายแดนก่อน เช่น หนองคาย ซึ่งฝั่งลาวได้พัฒนาท่านาแล้งเป็นศูนย์ลอจิสติกส์แล้ว, ด่านสะเดา ที่สินค้าไทยข้ามไปใช้บริการศูนย์ลอจิสติกส์ที่มาเลเซียปีละหลายแสนตู้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ผู้นำเข้าส่งออกจะใช้ท่าเรือบก คือ ต้นทุนคุ้มค่า มีความตรงต่อเวลา สินค้าปลอดภัย และมีบริการด้านพิธีการศุลกากร นำเข้า-ส่งออกเบ็ดเสร็จ ดังนั้น การมีท่าเรือบกจะต้องคำนวณต้นทุนและเปรียบเทียบ ว่าท่าเรือบกช่วยให้ผู้ใช้บริการประหยัดมากขึ้นจริงหรือไม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดีกว่าการขนส่งแบบเดิม ประเด็นปัญหาขณะนี้ คือ ข้อจำกัดของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามสินค้าหลายตัวจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น ข้าว ข้าวโพด ยาง ขนส่งผ่านไทยไปยังประเทศที่ 3 เพื่อปกป้องเกษตรกรไทย ส่วน พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ. 2560 เรื่องระบบพิธีการศุลกากร กำหนดให้ทำธุรกรรมผ่านแดนที่ด่านชายแดนเท่านั้น ดังนั้น ท่าเรือบกจำเป็นต้องกำหนดให้เป็นด่านด้วยหรือไม่ ซึ่งแผนแม่บทท่าเรือบทเป็นการดำเนินการ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับลอจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และศูนย์บริการลอจิสติกส์ เช่น ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้าปลอดอากร สถานีขนส่งสินค้า ท่าเรือบก ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor : NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) และฐานการผลิตทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศไปยังประตูการค้าหลัก และด่านการค้าสำคัญของประเทศ

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าผ่านเข้า-ออก กว่า 7.6 ล้านทีอียูต่อปี โดยมีอัตราเติบโตประมาณ 6% ต่อปี ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะขยายการรองรับปริมาณตู้สินค้าเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งจะทำให้ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มซึ่งจะกระทบต่อการจราจรทางบก ดังนั้น ท่าเรือบกซึ่งจะขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่ท่าเรือได้จะช่วยแก้ปัญหา



กำลังโหลดความคิดเห็น