xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 145 ล้าน เพิ่มประสิทธิภาพรถไฟสายตะวันออก หนุน EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 145 ล้านให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด และออกแบบรายละเอียดการเพิ่มระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับสายสีแดง เพิ่มขีดความสามารถขนส่งสู่ท่าเรือแหลมฉบัง, สัตหีบ และมาบตาพุด

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 พ.ค. ได้อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 145,301,100 บาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนบุคลากรหลัก 62,814,573.00 บาท ค่าใช้จ่ายบุคลากรสนับสนุน 37,262,000.00 บาท ค่าใช้จ่ายตรง35,718,847.56 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จำนวน 9,505,679.44 บาท

การขอรับการสนับสนุนงบกลางในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ที่มอบให้ ร.ฟ.ท.เร่งรัดจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ทบทวนรายละเอียดเพิ่มความจุของทางรถไฟ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันมีทางรถไฟ 3 ราง) จะก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง โดยสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟทางคู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (แหลมฉบัง-ศรีราชา-ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา

ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดการเพิ่มระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อรองรับการให้บริการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับระบบรถไฟทางไกล และศึกษาความเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกในการให้บริการ

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟสู่ท่าเรือสำคัญทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด


กำลังโหลดความคิดเห็น