รถไฟเตรียมเดินหน้าจัดหาหัวรถจักร 100 คันชงบอร์ด 18 พ.ค. ก่อนประกาศ TOR ซื้อ 50 คัน วงเงิน 6.5 พันล้านนำร่องก่อน และมีแผนเช่าอีก 50 คัน 1.3 หมื่นล้านรองรับทางคู่เสร็จ ขณะเดียวกันวางแผนจัดงบ 3 ปีทยอยติดระบบอัตโนมัติ (ATP) บนหัวจักรเก่าเพื่อจัดการเดินรถเข้าบางซื่อ
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดซื้อหัวรถจักร 50 คันว่า จะมีการรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธาน ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ รับทราบ ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยหารือกับบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดเก่าชัดเจนแล้วว่าโครงการนี้ไม่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) เพื่อพิจารณา
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้มีแผนการเพิ่มหัวรถจักร และรถโดยสาร รวมถึงการเปลี่ยนระบบรถดีเซลเป็นระบบไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับการให้บริการ หลังจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะแรกและระยะที่ 2 แล้วเสร็จ ขณะที่การใช้ทางร่วม หรือ Shared Track ของรถไฟสายสีแดงและรถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกล ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบ Automatic Train Protection (ATP) บนหัวรถจักรดีเซลที่จะวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้รถไฟทั้งสองระบบใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยอีกด้วย
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า หากบอร์ด ร.ฟ.ท.รับทราบการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คันแล้ว ตามขั้นตอนคาดว่าจะสามารถนำร่างTOR เปิดรับฟังคำวิจารณ์ภายในเดือน พ.ค.นี้ได้ โดยจะรับฟังคำวิจารณ์ 2 ครั้ง จึงประกาศ TOR เปิดประมูลตามกระบวนการ คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม จะชี้แจงความคืบหน้าในโครงการเช่าหัวรถจักร พร้อมบำรุงรักษา จำนวน 50 คัน ต่อบอร์ดอีกด้วย และหากไม่มีปัญหาเพิ่มเติมจะเสนอรายละเอียดต่อบอร์ดในการประชุมเดือน มิ.ย.เพื่อเริ่มกระบวนการจัดจ้างต่อไป
สำหรับแผนการจัดหาหัวรถจักรดีเซลจำนวน 100 คันดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับรถไฟทางคู่ระยะแรกที่จะมีความจุของทางเพิ่มขึ้น โดยจะรองรับการให้บริการในปี 2567 ซึ่งหัวรถจักรจะมีการติดตั้งระบบ ATP มาด้วย ส่วนหัวจักรเก่ามีแผนติดตั้งระบบ ATP เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาหัวจักรที่มีสภาพดีประมาณ 50% ของหัวจักรที่มีกว่า 100 คัน ซึ่งจะทยอยติดตั้งระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564
หลังปี 2567 จะมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ระยะ 2 ซึ่งตามยุทธศาสตร์ของรถไฟจะต้องพิจารณาประเด็นการเดินรถด้วยระบบรถไฟฟ้าด้วย ซึ่งการเปลี่ยนรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้านั้นมีต้นทุนสูง เพราะนอกจากจะต้องจัดหารถไฟฟ้าแล้ว จะต้องเปลี่ยนระบบควบคุมต่างๆ ด้วย ดังนั้น อาจจะพิจารณาเส้นทางที่มีความถี่สูง โดยนอกจากหัวรถจักรแล้ว จะจัดหารถดีเซลรางจำนวน 402 คัน เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คัน มีกรอบวงเงิน 6,500 ล้านบาท ส่วนโครงการเช่าหัวรถจักร เพื่อการขนส่งพร้อมบำรุงรักษา จำนวน 50 คัน ระยะเช่า 15 ปี กรอบวงเงินเบื้องต้น 13,344 ล้านบาท