“นายกฯ” เซ็นตั้ง “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. แทน “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” สานต่อบิ๊กโปรเจกต์โค้งสุดท้ายรัฐบาล คสช. ขณะที่บอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่เคาะผลงานแรก เปิดประมูลซื้อรถจักร 50 คัน 6.5 พันล้าน และเห็นชอบผลศึกษาไจก้า แผนพัฒนาบางซื่อ, แผน PPP รถไฟขนส่งสินค้าขอนแก่น-แหลมฉบัง
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งเลขที่ 5/2561 แต่งตั้งนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. แทนนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม แต่ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างรอหนังสืออย่างเป็นทางการ โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท. ได้แจ้งต่อที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 18 พ.ค.เบื้องต้นเพียงสั้นๆ ว่า นายกฯ มีคำสั่งแล้ว
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนรักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ หลังจากเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2561 ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามในคำสั่งที่ 10/2560 เรื่องการปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 23 ก.พ. 2560 โดยแก้ไขคำสั่งเดิม และกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชุดใหม่
“บอร์ดชุดใหม่ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 27 เม.ย. และได้มีการหารือถึงกรณีการตั้งรักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใหม่แล้ว แต่เป็นเรื่องภายใน เนื่องจากการแต่งตั้งเป็นอำนาจของนายกฯ ที่จะต้องลงนามในคำสั่ง เข้าใจว่าที่ได้ตั้งนายอานนท์ รักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นคนนอกเข้ามา เพื่อแก้ปัญหาสามารถผลักดันการประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาร้องเรียนจนทำให้งานล่าช้า ซึ่งขณะนี้ได้ทำภารกิจเรียบร้อย ดังนั้น ฝ่ายนโยบายจึงได้ตั้งคนในอย่างนายวรวุฒิขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ เพื่อขับเคลื่อนงาน เช่น รถไฟทางคู่ เฟส 2 รถไฟความเร็วสูง ในช่วงโค้งสุดท้ายรัฐบาล คสช.ต่อไป”
สำหรับการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ยังได้รับทราบการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คันแล้ว กรอบวงเงิน 6,500 ล้านบาท ซึ่งราคากลางปรับใหม่อยู่ที่ประมาณ 6,300 ล้าน โดยหัวรถจักรนี้จะมีการติดตั้งระบบ ATP (ระบบอัตโนมัติ) ซึ่งจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศทีโอาร์เพื่อรับฟังคำวิจารณ์ต่อไป
นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า ) และตัวบางซื่อ และผลการศึกษาโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟสายขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 516 กม.เพื่อเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า โดยจะให้ภาคเอกชนให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้า