xs
xsm
sm
md
lg

เปิด PPP ทลฉ.เฟส 3 มูลค่า 8 หมื่นล้าน ส.ค.นี้ ดันท่าเรือไทยติดท็อป 20 โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทท.เปิดเวที Market sounding รับฟังความเห็นนักลงทุน พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้าน วางไทม์ไลน์เปิดประมูล ส.ค.หาผู้ร่วมทุนมูลค่า 8 หมื่นล้าน เซ็นสัญญา ธ.ค. 61 ส่วนระบบโครงสร้างพื้นฐานกว่า 4 หมื่นล้าน กทท.จะลงทุนเอง คาดก่อสร้าง 5 ปี ตั้งเป้าเปิดท่า F1, F2 นำร่อง ในปี 68 ขีดรองรับเพิ่ม 4 ล้านทีอียู

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ และใช้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ของภาคเอกชนมาช่วยในการบริหารท่าเรือ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและเปิดคัดเลือกเอกชนภายในปีนี้

ทลฉ.เป็นประตูการค้าการส่งออกของประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้าที่ 7 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งภายใต้นโยบาย EEC จะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่และปริมาณการค้าการส่งออกจะเติบโตมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการพัฒนา ทลฉ.ขั้นที่ 3 โดยมีแนวคิด คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าเป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี 2. นำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation มาบริหารจัดการ 3. ส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Multi Model) โดยส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟ เชื่อว่าเมื่อดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังติดในTOP 20 ของโลก

ตามแผนงานจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ซึ่งต้องคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาบริหารคู่ขนานไปด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งหวังจะได้ผู้บริหารท่าเรือที่มืออาชีพ มีระบบที่ทันสมัย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ขณะนี้สิงคโปร์มีท่าเรือที่ใหญ่ขนาด 30 ล้านทีอียู ส่วนไทยหากพัฒนามาอยู่ที่ 18 ล้านทีอียูได้จะเทียบเท่ามาเลเซีย และจะอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคได้

“การส่งเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศ จะต้องดำเนินการควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นและทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย”

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังกล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 แบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ 1. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าเทียบเรือมาตรฐาน การขุดลอกร่องน้ำ ถนน ราง ระบบ ไฟฟ้า ประปา มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการท่าเรือฯ จะลงทุนเอง โดยการท่าเรือฯ จะเปิดประมูล ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 คาว่าจะได้ตัวผู้ดำเนินการในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ซึ่งจะใช้เงินบางส่วนจากรายได้ซึ่งมีกระแสเงินสดกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และที่เหลือจะระดมทุน เช่น ออกพันธบัตร หรือกู้เงินในประเทศ ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงิน อยู่ระหว่างศึกษา

2. การบริหารจัดการท่าเรือ โดยร่วมลงทุน PPP เอกชนจะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือให้พร้อมในการให้บรืการ จัดหาเครื่องมือต่างๆ ระบบไอที และทำการตลาด ประเมินมูลค่าลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งใช้ระเบียบ PPP EEC Track โดยจะทำ Market sounding ครั้งที่2 เดือน มิ.ย. และครั้งที่ 3 เดือน ก.ค. จากนั้นจะสรุปข้อมูลเสนอขออนุมัติ และประกาศทีโออาร์ในเดือน ก.ค. ขายเอกสารประมูลในเดือน ส.ค. ได้ตัวและลงนามสัญญาในเดือน ธ.ค. 2561 โดยจะเปิดบริการระยะแรก สำหรับท่าเรือคอนเทนเนอร์ F1, F2 ในปี 2568 รองรับได้ 4 ล้านทีอียู

“ทลฉ.มีขีดความสามารถที่ 11.1 ล้านทีอียูต่อปี โดยปัจจุบันมีปริมาณสินค้ารวม 8 ล้านทีอียู มีการเติบโตเฉลี่ย 5% แต่นโยบาย EEC จะทำให้โตเร็วขึ้น และคาดว่าจะเต็มขีดรองรับภายใน 5-6 ปีนี้ ขณะที่สินค้าที่เข้ามายัง ทลฉ.จำนวน 8 ล้านทีอียูในปัจจุบัน เป็นการขนส่งมาทางถนน 87.5% ทางน้ำ 7% ทางราง 5.5% ซึ่งในเฟส 3 ได้ทบทวนแบบเพื่อเพิ่มการรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งรวมกับการรองรับเดิม 2 ล้านทีอียู เป็น 6 ล้านทีอียู หรือสัดส่วนที่ 30%”

สำหรับโครงการมีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้าแอ่งจอดเรือลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้านTEU ต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่าสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น