xs
xsm
sm
md
lg

จ่อปลดล็อกต่างชาติหุ้นเกิน 51% เปิดทางร่วมชิงเค้กแหลมฉบังเฟส 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กทท. ฟังความเห็นนักลงทุน ประมูลแหลมฉบังขั้นที่ 3 แบ่งสัญญาท่าโซน F และ E หวั่นผูกขาดและให้เกิดการแข่งขันบริการ ด้าน “กอบศักดิ์” เผย นโยบาย EEC เปิดกว้างประมูลนานาชาติ จ่อปลดล็อกพ.ร.บ. การท่าเรือฯ เพิ่มต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ตามรอยทีโออาร์รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ยันประมูลส.ค. เซ็นสัญญา ธ.ค. 61 ปิดดีลก่อนเลือกตั้ง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกโครงการภายใต้การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการนำร่อง ซึ่งจะเปิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มูลค่าการลงทุนประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท - 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งจะดำเนินโครงการผ่านระเบียบ PPP EEC Track ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประมูลและลงนามสัญญาได้ภายใน 8 - 10 เดือน ซึ่งตามแผนงาน จะประกาศทีโออาร์ภายในเดือน ส.ค. 2561 สามารถสรุปผลได้ตัวผู้รับสัมปทานในเดือน ธ.ค. 2561 มั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างภายในปลายปี 2561 ก่อนเลือกตั้งเดือน ก.พ. 2562

โดยจะเป็นการเปิดประมูลแบบนานาชาติ นโยบายต้องการเปิดกว้างให้มีนักลงทุนเข้าร่วมประมูลมากที่สุด เพื่อให้เกิดการแข่งขันเพื่อรัฐบาลจะได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งหากไม่ติดข้อกฎหมายใดๆ มีความเป็นไปได้ที่จะใช้รูปแบบเดียวกับการประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 75% ยกเว้นด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้ตั้งบริษัทลูกที่มีคนไทยถือหุ้น 51% ทั้งนี้ เบื้องต้น พ.ร.บ. การท่าเรือฯ ยังกำหนดประกอบการท่าเรือกรณีต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ดังนั้น คณะกรรมการนโยบาย EEC จะมีการพิจารณาเพื่อปลดล็อกได้อย่างไรต่อไป เพื่อให้ทีโออาร์มีความน่าสนใจที่สุด ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติทั้งยุโรป เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ที่สนใจท่าเรือแหลมฉบัง และมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าสนใจและเป็นอนาคตเหมาะกับการลงทุน

“การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เป็นการวางเพื่ออนาคตอีก 20 ปี ซึ่งจากนโยบายของหลายประเทศ จะทำให้แหลมฉบัง เป็นท่าเรือศูนย์กลางอินโดจีนเป็นอินโดไชน่าเกต์เวย์ เช่น จีน มี One Belt and One Road อินเดีย มีมองตะวันออก (Look East Policy) ส่วนญี่ปุ่น มี ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ดังนั้น รัฐบาลจังมีนโยบายพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า การลงทุนในอินโดจีน โดยพัฒนา พื้นที่ EEC ซึ่งมีโครงการที่จะพัฒนามูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท เชื่อว่า จะขับเคลื่อนและทำให้เศรษฐกิจไทยโตมากกว่า 4.8% และจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังเต็มในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงต้องขยายเฟส 3 รองรับ และจะเป็นท่าเรือสำหรับอินโดจีน ไม่ใช่แค่การนำเข้า ส่งออกของประเทศไทยเท่านั้น”

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ทบทวนการศึกษาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางในแหลมฉบังขั้นที่ 3 ให้ได้เป็น 30% หรือ 4 ล้านทีอียูต่อปี นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการศึกษา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คู่ขนาน ซึ่งเตรียมเสนอข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะได้รับอนุมัติในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งจะทบทวนแบบแล้วเสร็จ

สำหรับการการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ได้รับความสนใจจากเอกชนประมาณ 300 ราย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 จะลงรายละเอียดการพัฒนาแต่ละท่า เบื้องต้นแบ่งสัญญาการประมูลท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ฝั่ง F (ความยาว 2,000 เมตร) รองรับได้ถึง 4 ล้านทีอียูต่อปี และฝั่ง E (ความยาว 1,500 เมตร) รองรับได้ 3 ล้านทีอียูต่อปี ทั้งนี้เพื่อให้มีการแข่งขันและหลีกเลี่ยงการผูกขาด และการบริการมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นรวมถึงรูปแบบสอบถามถึงระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) แบบเต็ม 100% หรือกึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อวงเงินลงทุนด้วย

โดยการท่าเรือฯจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขุดลอก ร่องน้ำให้ลึก 18.5 เมตร และนำดินมาถมท่าเทียบเรือ สร้างถนน ระบบไฟฟ้าประปา เขื่อนกันคลื่น ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการ 48 เดือน ส่วนการบริหารท่าเรือ สัญญาเฟส 1, 2 ตามระเบียบท่าเรือฯ ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ไทย 51% ซึ่งจะมีการศึกษาข้อกฎหมายและพิจารณาต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ

สำหรับ ท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 จะเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านค้นต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก 14% ของจีดีพี เหลือ 12% ของจีดีพี ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น