xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฯทบทวนทีโออาร์ “ไอซีดีลาดกระบัง” เตรียมประมูลใหม่ยันโมเดลสัมปทานเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท. เริ่มนับหนึ่งโครงการประมูลไอซีดีลาดกระบัง สัมปทาน 20 ปี มูลค่า 4 หมื่น ล. กก.มาตรา 35 ถกทบทวนทีโออาร์ใหม่ หลังที่ผ่านมาถูกร้องเรียนจนต้องยกเลิกประมูล ทำโครงการล่าช้า ยันโมเดลรายเดียวบริหารเหมาะสม เพิ่มศักยภาพบริการ รัฐคุมเพดานค่าบริการ ด้านเอกชนยังติง รายเดียวผูกขาด ล็อกสเปกทีโออาร์ กีดกันเอกชนไทยร่วมประมูล หวั่นต่างชาติฮุบผลประโยชน์ชาติ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ว่า หลังจากได้ยกเลิกการประกวดราคาไปเมื่อปี 2560 ขณะนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) แล้ว โดยมี นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการ กลุ่มยุทธศาสตร์ ร.ฟ.ท. เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเริ่มขั้นตอนการประมูลอีกครั้ง โดยจะเป็นการพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขทีโออาร์ และนำข้อท้วงติงต่างๆ ก่อนหน้านี้มาพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม

รายงานข่าวแจ้งว่า ร.ฟ.ท. ได้เปิดประมูลสรรหาผู้รับสัมปทานร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการ ไอซีดี ลาดกระบัง เป็นระยะเวลา 20 ปี มูลค่าโครงการประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยไอซีดี (ลาดกระบัง) มีพื้นที่ 647 ไร่ มีจำนวน 6 สถานี การบริหารที่ผ่านมาจะมีผู้ประกอบการ 1 รายต่อ 1 สถานี ขณะที่รูปแบบได้รวบสัมปทานให้เหลือผู้บริหารเพียงรายเดียว ทำใหถูกร้องเรียนกรณีล็อกสเปก ปิดกั้น มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ กรณีการรวมพื้นที่ทั้งหมดเป็นหนึ่งสัญญานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ปัญหาการบริหารจัดการโดยรวมของพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งระบบถนน ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน พบว่า มีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก ระบบสาธารณูปโภคทรุดโทรด เนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยผู้ประกอบแต่ละสถานี จะรับผิดชอบและบริหารจัดการเฉพาะพื้นที่ของตัวเอง การปล่อยรถเข้าออกไม่มีการประสานกัน ทำให้เกิดจราจรคับคั่ง ดังนั้น การรวมพื้นที่เป็นหนึ่งสัญญา บริหารสัญญา จะต้องบริหารทั้ง 6 สถานี และพื้นที่กลาง ด้วย เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งผู้สนใจหากเป็นรายเล็ก สามารถรวมกลุ่มเข้ามาประมูลได้ ไม่มีการปิดกั้นใดๆ

ด้าน นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานกรรมการ บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ผู้ประกอบการไอซีดี ลาดกระบัง กล่าวว่า ต้องการให้ ร.ฟ.ท. พิจารณาการบริหารไอซีดี ในรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นโมเดลที่เหมาะสมและมีผลสำเร็จดี ทำให้ปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่ไอซีดีมีกว่า 1.5 ล้านทีอียูต่อปี ผู้ประกอบการทั้ง 6 มีการแข่งขันด้านบริการและกำหนดราคาที่เป็นธรรม ส่วนทีโออาร์ใหม่ ให้รายเดียวบริหารเป็นการผูกขาดแน่นอน ครั้งแรกจะเสนอค่าบริการถูกเพื่อให้ได้สัญญา แต่ต่อไปจะเพิ่มสูงได้ เพราะไม่มีคู่แข่ง รูปแบบนี้ไม่ตอบโจทย์การใช้บริการที่อาจทำให้ผู้ใช้ริการมีต้นทุนสูงขึ้นในอนาคต

“เงื่อนไขด้านคุณสมบัติ มีการกำหนดไว้สูง เช่น ต้องมีผลงานถึง 5 แสนทีอียู ซึ่งบริษัทฯประกอบการที่ไอซีดีมา 20 ปี ยังเข้าประมูลไม่ได้ เพราะมีแค่แสนทีอียู ผมเห็นว่า ควรกำหนดคุณสมบัติที่เปิดกว้าง และให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมได้ ส่วนประมูลแล้ว สู้ไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยากให้การรถไฟฯมองผู้ประกอบการไทยเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งเข้ามาทำไอซีดี ตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตอนนั้นยอมแบกภาวะขาดทุน พอตอนนี้ ไม่มีสิทธิ์แม้จะร่วมประมูล และสุดท้าย กลายเป็นต่างชาติที่ได้ไปและเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด” นายสุวิทย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น