ยโสธร - ผู้รับเหมายโสธรโวยกระทรวงศึกษาธิการไม่อนุมัติงบครุภัณฑ์ทางการศึกษา ประวิงเวลาจนงบจัดซื้อต้องตกไป 31 พ.ค.ที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ชนะการประมูลอย่างหนักและกระทบต่อโรงเรียนที่มีความประสงค์จะใช้ครุภัณฑ์ต่างๆ หลังเปิดเทอม แฉบริษัทเอกชนที่ร้องเรียนมีการล็อกสเปก เหตุเพราะตัวเองเสียผลประโยชน์ไม่ได้รับการประมูล
รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาแถลงข่าวว่ามีการตรวจพบการทุจริตและมีการล็อกสเปกการจัดซื้อครุภัณฑ์พัฒนาทักษะนักเรียน ชุดอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และยโสธร
ล่าสุด นายเสรี สายสีแก้ว ประธานกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด แอล ไอ ซี อุปกรณ์ (1999) ต.เขื่องคำ อ.เมือง จ.ยโสธร ได้ออกมาเปิดเผยว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด แอล ไอซี อุปกรณ์ (1999) ที่มีตนเป็นเจ้าของก็เป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูลตามโครงการจัดสรรงบประมาณค่าครุภัณฑ์ทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือที่ ศธ 04229/1283 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2560 มีคำสั่งให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้จัดซื้อครุภัณฑ์ตามความเหมาะสมที่จะดำเนินการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน
โดยให้ยึดรายละเอียดคุณลักษณะจาก สพฐ. และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 งบประมาณทั่วประเทศกว่า 279 ล้านบาท ลงนามโดย นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทางโรงเรียนที่มีความต้องการครุภัณฑ์จึงได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e- Bidding และหาผู้รับจ้างได้ตั้งแต่เริ่มมีคำสั่งออกมาใหม่ๆ เพื่อจะได้ใช้ครุภัณฑ์ให้ทันเปิดภาคเรียน
อย่างไรก็ตาม นายเสรีกล่าวว่า แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการอนุมัติเงินงบประมาณดังกล่าวออกมาแต่อย่างใด จนกระทั่งงบประมาณดังกล่าวต้องตกไปในวันที่ 31 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้แก่ทางโรงเรียนที่มีความประสงค์จะใช้ครุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด แอล ไอ ซี อุปกรณ์ (1999) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูลตามโครงการดังกล่าวก็ได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล
เนื่องจากต้องมีการซื้อสินค้าหรือครุภัณฑ์ตัวอย่างเพื่อนำไปให้กับทางโรงเรียนได้ดูและตรวจสอบคุณภาพตามสเปก อีกทั้งต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการจัดเตรียมผลิตสินค้าให้ทันตามระยะเวลา ซึ่งต้องลงทุนไปกว่า 1 ล้านบาท
ส่วนการร้องเรียนของบริษัทเอกชนที่แจ้งว่ามีการล็อกสเปกนั้นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างที่บริษัทของตัวเองไม่ได้รับการพิจารณาเพราะไม่ได้ผลิตสินค้าที่ สพฐ.กำหนด ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ดำเนินการตามสเปกที่ สพฐ.กำหนดไว้ทั้งสิ้นและตรงตามที่โรงเรียนต้องการไม่มีการล็อกสเปกใดๆ เป็นเรื่องบางรายที่เสียผลประโยชน์ดังกล่าวสร้างเรื่องให้เกิดความเสียหายและโรงเรียนก็มีหนังสือการตรวจสอบไม่พบเรื่องที่กล่าวอ้าง
นายเสรีกล่าวอีกว่า แต่ที่น่าสังเกตว่าทำไมระยะเวลาที่เนิ่นนานขนาดนี้ไม่มีการอนุมัติเงินประจำงวดและไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหนังสือร้องเรียนเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ทำไมไม่มีการดำเนินการใดๆ แต่มาเริ่มดำเนินการในช่วงที่งบกำลังจะตกไป
นอกจากนี้ การที่มีหนังสือให้ทางโรงเรียนยืนยันของบประมาณ ทำไมไม่ทำก่อนการจัดสรรงบ จนเป็นที่น่าสังเกต การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ว่าร้องเรียนเรื่องล็อกสเปก การหมกเม็ดงบประมาณภายใน สพฐ.ไม่ยอมตัดโอน ทำไมไม่ดำเนินการก่อนหน้านั้น ปล่อยมาจนงบจะตกไปในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561