ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบังเตรียมเปิดเวที รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ศึกษารูปแบบการลงทุนในโครงการ ท่าเทียบเรือขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
ร.ต.ต. มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า ในวันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 09.00 -12.00 น. ณ ห้องเมแฟร์ บอลรูม เอ-บี ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะเปิดเวที รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อสร้างการรับรู้ ดึงดูดความสนใจ และรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและผู้สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ
เนื่องจาก การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้มีแผนพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ. ศ. 2558-2565 และแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง 2560 ของกระทรวงคมนาคม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ให้เป็นประตูการค้าของนักลงทุนสู่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตก หรือ East West Corridor ไปสู่จีนตะวันตก จีนตอนใต้ และอินเดีย ตลอดจนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการคมนาคม ขนส่ง กระจายสินค้า และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเอเชีย
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวก จัดให้มีโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นต่างๆ ให้เพียงพอ และมีความพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ การขนส่งทางรถไฟ และสินค้าประเภทต่างๆ ได้ทันท่วงที โดยกำหนดเป้าหมายให้เป็นท่าเรือล้ำสมัยในการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม
ดังนั้นการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่สูงขึ้น โดยการขนถ่ายด้วยเครื่องมือขนสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ที่ทันสมัยด้วยระบบ Automation ภายใต้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
จึงกำหนดให้มีการจัดการทดสอบความสนใจของนักลงทุน จากนักลงทุนภาคเอกชนและผู้สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการศึกษาวิเคราะห์ กำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนต่อไป โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน