xs
xsm
sm
md
lg

“ไพรินทร์” สั่งผุดทางเชื่อมด่วนบูรพาวิถี-ท่าเรือกรุงเทพ เปิดใช้ท่า 20G ลดปริมาณรถบรรทุกไปท่าเรือแหลมฉบัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทท.เปิดใช้ท่าเรือชายฝั่ง 20G ในท่าเรือกรุงเทพ จับมือกรมศุลฯ ตรวจปล่อยตู้ขาออกจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ตั้งเป้าปีแรกมีสินค้า 1 แสนตู้ ขณะที่รองรับได้ถึง 2.4 แสนตู้/ปี ด้านเอกชนเผยลดการใช้รถบรรทุกขนไปท่าเรือแหลมฉบังลดค่าใช้จ่ายได้ 30% ต่อตู้ “ไพรินทร์” สั่ง กทท.หารือ กทพ.ต่อทางเชื่อมด่วนบางนา-ชลบุรี เข้าท่าเรือโดยตรง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ว่า ท่าเรือชายฝั่ง 20G จะทำให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ร่วมมือกับกรมศุลกากรในการตรวจปล่อยตู้สินค้าขาออกเบ็ดเสร็จจุดเดียว ในการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปลงเรือแม่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ซึ่งท่าเรือ 20G สามารถรองรับได้ 2.4 แสนตู้ต่อปี และตั้งเป้าว่าในปีแรกจะมีปริมาณสินค้าประมาณ 1 แสนตู้

ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายเพิ่มเติมในการทำทางเชื่อมต่อจากระบบทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) เข้าสู่ท่าเรือกรุงเทพโดยตรง ซึ่ง กทท.และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะต้องทำการศึกษาร่วมกัน ทางเชื่อมดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณรถบรรทุกที่ปัจจุบันจะต้องวิ่งบนถนนเชื้อเพลิง ถนนทางรถไฟสายเก่าที่มีเพียง 2 ช่องจราจร ทำให้เกิดปัญหาจราจรอย่างมาก โดยมีระยะทางประมาณ 2 กม. ต่อเชื่อมท่าเรือกรุงเทพกับทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อเข้าสู่บูรพาวิถีได้ ส่วนปลายทางด่วนบูรพาวิถีที่ชลบุรี กทพ.กำลังศึกษาต่อขยายออกไปถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรีเพื่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะทำให้การขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพ ด้วยรถบรรทุกมีความสะดวกและไร้รอยต่อ

ปัจจุบันการนำเข้า ส่งออกของประเทศเติบโตอย่างมาก ล่าสุดได้มีการรายงานตัวเลขต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในเดือน มี.ค. มีปริมาณการส่งออกสินค้าสูงสุดกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเกือบ 20% การพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง 20G ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น

“เรือขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือแหลมฉบังใช้เวลา 8 ชม. บรรทุกได้ 60 ตู้ต่อลำ เท่ากับลดปริมาณรถบรรทุกบนถนนได้ 60 เที่ยว ลดปัญหาจราจร ลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการใช้พลังงาน ซึ่งการขนส่งทางน้ำมีต้นทุนที่ต่ำกว่าทางถนนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือชายฝั่งโดยเฉพาะเพื่อรองรับเรือขนส่งและเชื่อมกับท่าเรือ 20G และในอนาคตจะพัฒนาท่าเรือสุราษฎร์ธานี ให้ตรวจปล่อยแบบจุดเดียวขนส่งสินค้าต่อมาลงเรือแม่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง” นายไพรินทร์กล่าว

ด้านนายสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ กล่าวว่า ความสามารถในการขนส่งเรือชายฝั่งอยู่ที่ 60-100 ต่อเที่ยว เท่ากับลดการใช้รถบรรทุกลง 60-100 คัน ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการลงได้เฉลี่ย 30% ต่อตู้ นอกจากนี้ ปัจจุบันแนวโน้มเรือคอนเทนเนอร์รุ่นใหม่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งไม่สามารถเข้าท่าเรือกรุงเทพได้เนื่องจากติดปัญหาร่องน้ำ ดังนั้น ท่าเรือชายฝั่ง 20G จึงตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ โดยใช้เรือใหญ่ขนตู้สินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังและขนถ่ายลงเรือลำเลียงเพื่อส่งต่อมายังท่าเรือกรุงเทพ โดยไม่ต้องใช้รถบรรทุกขนสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังเข้ากรุงเทพฯ

สำหรับท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G อยู่บริเวณหน้าท่า Terminal 2 ฝั่งเขื่อนตะวันออก ความยาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน รอรับเรือชายฝั่งได้พร้อมกัน 3 ลำ ขนส่งตู้สินค้าได้ไม่น้อยกว่า 60 ทีอียู ต่อเที่ยว หรือสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณ 2,500 ลำต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ทีอียูต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น