ครม.อนุมัติกรอบเพดานขั้นต่ำ-สูง อัตราภาระค่ายกตู้สินค้าโครงการศูนย์ขนส่งทางราง แหลมฉบัง (SRTO) เตรียมเปิด ก.ค.ปีนี้ เก็บต่ำสุดที่ 376 บาท/ตู้ ถูกสุดในอาเซียน เชื่อจูงใจผู้ขนส่งชิฟต์โหมดขนส่งตู้สินค้าทางรางเพิ่มจาก 7% เป็น15%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (13 ก.พ.) ได้เห็นชอบโครงสร้างอัตราค่าภาระโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นอัตราที่ถูกสุดในอาเซียนเพื่อจูงใจให้ผู้ขนส่งเปลี่ยนโหมดการขนส่งด้วยรถบรรทุกมาใช้ระบบรางให้มากที่สุด ที่จะช่วยลดปริมาณจราจรที่หนาแน่นบริเวณภาคตะวันออกและพื้นที่โดยรอบและภายในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยโครงการ SRTO ของ กทท.ใช้งบประมาณลงทุนรวม 2,944.93 ล้านบาท ระยะที่ 1 ลงทุน 2,031.16 ล้านบาท ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการเดินรถเข้าสู่ท่าเรือ
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรถจะต้องเร่งหาผู้บริหารสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ไอซีดีลาดกระบัง) และหลังการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟส 2 แล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางได้โดยเฉพาะเส้นทางภาคอีสาน ที่มีย่านเก็บกองสินค้าและขนถ่ายสินค้า (Container Yard : CY) ช่วยเพิ่มความสะดวกในการยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลง
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ครม.เห็นชอบอัตราค่าภาระ SRTO ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในอัตราค่าภาระขั้นต่ำ 376 บาท และขั้นสูง 835 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ โดยจะเรียกเก็บในอัตราที่ 376 บาทในปีแรกที่เปิดดำเนินการ คือเดือน ก.ค. 2561 โดย กทท.สามารถปรับอัตราค่าภาระในการยกตู้สินค้าได้ภายในกรอบดังกล่าว จากเดิมที่ กทท.มีการกำหนดอัตราค่าภาระขั้นต่ำ-ขั้นสูง ที่ 470 บาท และ 835 บาท และมีการแยกตามขนาดตู้ (20 ฟุต, 40 ฟุต) ประเภทตู้คอนเทนเนอร์ (ขาเข้า, ขาออก, ตู้เปล่า) ซึ่งกรอบใหม่จะไม่ซับซ้อนและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่าย และเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ ยกตู้ขึ้นลงจากรถไฟ ไปยังรถหัวลากได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากปัจจุบัน 7% เป็น 15% และจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรให้มาใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้นจากเดิมที่จะวิธีเทกอง และอนาคต ท่าเรือเฟส 3 จะมีระบบอัตโนมัติที่จะเพิ่มการรองรับตู้สินค้าจาก 7 ล้านทีอียู เป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี
ทั้งนี้ โครงการ SRTO นั้น ครม.มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 อนุมัติ โดยให้ กทท.เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงการบริหารและการประกอบการ โดยใช้งบประมาณลงทุนของ กทท.วงเงินรวม 2,944.93 ล้านบาท ซึ่งระยะที่ 1 วงเงิน 2,031.16 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่ง กทท.มีความจำเป็นต้องกำหนดอัตราค่าภาระที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานโครงการฯ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนมาสู่ราง
โดยจะตั้งในพื้นที่โซน 4 ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และC เนื้อที่ 600 ไร่ (พื้นที่ใช้งาน 370 ไร่และสำรอง 230 ไร่) โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปีดำเนินการ 2559-2560) และระยะที่ 2 (ปีดำเนินการ 2565-2566) ในระยะแรกนั้นจะก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Yard) และติดตั้งรางรถไฟจำนวน 6 พวงราง แต่ละรางมีความยาว 1,224-1,434 เมตร สามารถจอดขบวนรถไฟได้รางละ 2 ขบวน รวม 12 ขบวน ในเวลาเดียวกัน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) เป็นเครื่องมือหลักในการจัดเรียงตู้สินค้าในลานเก็บตู้สินค้าที่สามารถทำงานคร่อม รางรถไฟได้ทั้ง 6 รางในเวลาเดียวกัน มีเป้าหมายที่จะบรรจุขนถ่ายสินค้าในแต่ละขบวนได้แล้วเสร็จ 1 ชม.ต่อขบวนจากเดิมประมาณ 2.5 ชม. ทำให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 2 ทีอียูต่อปี