“คมนาคม” โต้ข่าวญี่ปุ่นปฏิเสธและยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ยันสรุปการศึกษาเบื้องต้นแล้ว เตรียมเสนอ ครม. ส่วนการร่วมทุนยังไม่มีการเจรจารายละเอียด อยู่ในขั้นทำข้อมูลเพื่อพิจารณารูปแบบลงทุนที่เหมาะสมและลดภาระของรัฐบาลให้น้อยที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้ออกเอกสารชี้แจงถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างประเทศและสื่อโซเชียลว่า ญี่ปุ่นไม่สนใจลงทุนหรือยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ว่า การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เป็นการรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ยังไม่ได้มีการเจรจาการลงทุนแต่ประการใด และทางฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ยกเลิกโครงการความร่วมมือ หรือตอบปฏิเสธการร่วมลงทุนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทางฝ่ายญี่ปุ่นรับที่จะไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นภาระการลงทุนของรัฐบาลไทยให้น้อยที่สุด
สำหรับในประเด็นเรื่องความเร็วของรถไฟความเร็วสูงชินกันเซ็นของญี่ปุ่นนั้น ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นจะพัฒนาความเร็วที่ 300 กม.ต่อชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าการลดความเร็วลงจะไม่มีความแตกต่างของมูลค่าการลงทุน รวมทั้งการลดจำนวนสถานี ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมได้คำนึงถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงต้นทุนตลอดอายุโครงการ (Life Cycle Cost) ทั้งนี้ ทางญี่ปุ่นรับไปศึกษาเพิ่มเติม
กระทรวงคมนาคมจึงขอเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนารระบบรถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กระจายความเจริญไปสู่เมืองต่างๆ ในภูมิภาค และให้เกิดความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชนและเปิดเส้นทางท่องเที่ยวในภูมิภาค
จากการให้สัมภาษณ์ของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ภายหลังประชุมร่วมกับ นายโนริโยชิ ยะมะงะมิ รองผู้อำนวยการสำนักการขนส่งทางราง กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 276,225 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ มูลค่าของโครงการ การพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาการขนส่งสินค้า การเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าภายในประเทศ และการเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายจะนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มี.ค.นี้
สำหรับประเด็นต้นทุนโครงการนั้น สรุปว่าจะไม่มีการตัดสถานีออก เพราะพบว่าแม้ทำให้ต้นทุนลด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารที่หายไปไม่คุ้มค่า รวมถึงความเร็วนั้น ยืนยันที่ 300 กม./ชม.ตามมาตรฐานของรถชินคันเซ็น และพบว่าเป็นความเร็วที่เหมาะสมแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนการลงทุนนั้น ไทยเสนอให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการเพื่อลดการลงทุนภาครัฐลง ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการให้ไทยลงทุนโครงการ 100% เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในความร่วมมือรถไฟไทย-จีน โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และยังไม่ได้มีการยกเลิกความร่วมมือใดๆ