xs
xsm
sm
md
lg

การท่องเที่ยวกับบริษัท (社員旅行 Shain-Ryokou) ใครๆ ก็ไม่อยาก ..

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้วครับ
มีนักเขียนกลอนไฮกุชื่อดัง คือคุณ 松尾芭蕉 Matsuo Bashō บอกไว้ว่า " การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตคือการท่องเที่ยว 「月日は百代の過客にして、行きかふ年も又旅人也」 คนเขียนเป็นหนึ่งในนักเขียนไฮกุ ที่มีชื่อเสียงมาก ซึ่งเขาเป็นคนที่ค่อนข้างเป็นนักคิด มีคำถามเยอะเช่น เวลาเขาไปเที่ยวตามภูมิภาคต่างๆ จะเดินทางท่องเที่ยวเหมือนนินจา แม้ว่าเขามีชื่อเสียงมากแต่ก็มีคนให้ฉายาว่าเขาเป็นนินจาของโชกุน เพราะ เวลาเดินทางจะเคลื่อนที่ไวมาก หนึ่งวันเขาเดินทางได้เป็นระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ถ้าเขาเป็นสายลับของโชกุนจริงแต่ก็เขียนไฮกุได้ไพเราะและมีชื่อเสียงมาก

ไฮกุ 俳句 Haiku คือ กลอนแบบญี่ปุ่น ใช้คำไม่เกิน 17 พยางค์ แบ่งเป็นวรรค 5,7,5 รำพันเกี่ยวกับธรรมชาติ ที่จริงผมอยากยกตัวอย่างมากๆ แต่อาจจะค่อนข้างเข้าใจยาก คงจะคล้ายๆ กับให้คนญี่ปุ่นมาทำความเข้าใจเนื้อความในบทกวีของสุนทรภู่ ครับ มีตัวอย่างมาให้ชมสักนิดหน่อย ดังนี้ ครับ

♢古池や 蛙飛びこむ 水の音
Furuikeya Kawazutobikomu Mizunooto
ไฮกุบทนี้เป็นบทหนึ่งที่เรียกว่ามีชื่อเสียงมากระดับต้นๆ ของโลก ไฮกุบทนี้ผมอ่านหนังสือการ์ตูนแล้วในเรื่องพูดถึงไฮกุ บทนี้ ผมไม่เข้าใจเลยในตอนนั้น ความหมายตรงตัวแปลว่า "ที่สวนแห่งหนึ่ง มีกบกระโดดลงน้ำ ได้ยินเสียงกระทบผิวน้ำ" ความหมายที่ไฮกุต้องการบอกคือ "ความสงบ" ที่จริงความหมายดีมาก แต่อธิบายออกมายากมากครับ

เพื่อนๆ เคยได้ยินนักฟุตบอลที่เคยมีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งของญี่ปุ่น ตอนนี้เค้าเกษียณอายุแล้ว คือ คุณนากะตะ ตอนที่เขาลาวงการเขาก็พูดเช่นเดียวกันคือ ชีวิตคือการเดินทาง "人生とは旅であり、旅とは人生である” เพื่อนๆ คิดแบบนี้ไม่ครับว่า ชีวิตคือการเดินทาง แล้วการเดินทางของคนไทย และการเดินทางของคนญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรกันนะ

ผมคิดว่า คนไทยมีชีวิต (การเดินทาง) คือ การปิคนิค คือ เวลาไปท่องเที่ยวที่ไหนๆ เวลาชวน ไปไหนๆ ไปกัน ยิ่งเยอะยิ่งสนุก เช่น นายเอ มีธุระต้องไปที่หนึ่ง แล้วชวนเพื่อนคนอื่นๆไป เพื่อนก็สามารถชวนเพื่อนๆ ต่อๆ ไปได้อีก พอไปแล้วก็อาจจะไม่ได้ทำอะไรมาก ตั้งวงและเล่นการ์ดเกมส์กัน แล้วก็กลับ

แต่สำหรับชีวิตคนญี่ปุ่นคือแบบไหนนะ นั่นคือ การท่องเที่ยวของบริษัท 社員旅行 Shain-Ryokou นั่นเองครับ วันนี้ผมจะเล่าเรื่องการท่องเที่ยวในบริษัทญี่ปุ่นครับ การท่องเที่ยวในบริษัทเมืองไทยของคนไทยผมคิดว่าค่อนข้างอิสระใช่ไหมครับ บางทีอาจมีการชวนครอบครัวไปด้วยได้ ส่วนทางญี่ปุ่น นั้นตรงข้ามครับ

ทำไมตรงกันข้าม ผมมองว่าการไปเที่ยวของบริษัทมีสิ่งต่างๆ ดังนี้

*兎に角、酒!!* Tonikaku sake!! งานเหล้า.. ออฟฟิศที่ผมเคยทำงาน จะมีเทศกาลท่องเที่ยวประจำปี ช่วงประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยร้อนแล้ว กำลังจะเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศดีแสงแดดก็ยังไม่มืดเร็วเท่าไหร่ แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เริ่มแพงขึ้นกว่าเที่ยวช่วงหน้าร้อนเยอะเหมือนกันครับ ส่วนบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ มักจะท่องเที่ยวประจำปีกันในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็น 行楽シーズン Best season และเป็นช่วงเปลี่ยนหมุนเวียนพนักงานด้วย ปกติจะย้ายจะเปลี่ยนใครไปแผนกไหนขึ้นอยู่กับหัวหน้า แต่ที่สำคัญไม่แพ้ว่าใครจะไปอยู่ฝ่ายไหนแผนกไหน คือใครจะเป็นผู้ถูกเลือกให้ทำหน้าที่จัดการท่องเที่ยวประจำปี คือผมจะบอกว่าการเลือกคนมาทำหน้าที่ดูแลงานท่องเที่ยวประจำปีบริษัทเนี่ย เหมือนจะสำคัญพอๆ กับการทำงานทั่วไปเลยเชียว สำหรับผมพอทำงานที่แผนกนี้เข้าปีที่สาม ก็มีคนเสนอชื่อให้ผมมาเป็นผู้ดูแลการท่องเที่ยวประจำปีนั้น แต่พอหัวหน้าเห็นชื่อผม ก็โดนปลดออกทันที 555+ สงสัยกลัวว่าจะพาทีมไปล้มลุกคลุกคลานกระมัง m(゚Д゚)m ให้ผมเป็นผู้ช่วยอันดับสองแทน แต่ไปๆมาๆ คนที่ได้รับให้เป็นผู้จัดการการท่องเที่ยวประจำปีเกิดสุขภาพไม่ดี ต้องนอนโรงพยาบาลหลายเดือน เป็นเหตุให้ผมต้องทำหน้าที่ดูแลจัดการการท่องเที่ยวประจำปีบริษัทจนได้ ซึ่งทีมที่ผมรับผิดชอบพาเที่ยวครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการในออฟฟิศที่ร่วมงานกัน อีกครึ่งเป็นครูอาจารย์ที่ติดต่อกัน เพราะปีนั้นทำงานราชการที่เกี่ยวกับการศึกษาพอดี ถ้าเพื่อนๆ จำได้ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาจารย์โรคจิต อาจจะอ่านได้ที่นี่ครับ ทำไมที่ญี่ปุ่นครูโรคจิตเยอะจัง มีอาจารย์ที่เมานอนในร้านเหล้า จนทำให้ร้านเหล้าบางร้านไม่ค่อยอยากรับอาจารย์

คราวที่จะไปเที่ยวนี้พวกผมต้องซื้อเหล้าเยอะมาก เพื่อเตรียมพร้อมจัดทริปให้เต็มที่ เพราะมีช่วงที่ต้องนั่งรถบัสที่เหมาไว้ ลูกทัวร์กินเหล้ากันเก่งมาก ขนาดไกด์ประจำรถยังตกใจเลยว่า นี่พวกคุณขนอาหารและเหล้าไปอยู่กันเป็นเดือนเลยเหรอ แล้วการเดินทางโดยการเหมารถบัสเนี่ยพ่อคุณแม่คุณเอ๋ย ปล่อยของกันสุดฤทธิ์สุดเดช กินเหล้าร้องคารโอเกะ เอะอะโวยวายมากเลยทีเดียว บางทีเดินทางโดยรถไฟชินกันเซ็นแม้ว่าเหมือนดูว่าแยกกันนั่ง แต่คงยังมีความเรียบร้อยกว่าไปส่วนตัวเช่นนี้ เพราะในรถไฟมีผู้โดยสารคนอื่นๆ ด้วย หัวหน้าผมก็เตือนแล้วว่าตอนแรกนั่งรถไฟชินกันเซนจากโตเกียวไปจังหวัดที่จะไปเที่ยว แล้วต่อบัสที่เหมามารับ หัวหน้าบอกผมว่า ตอนจะเปลี่ยนเป็นบัสนี่จะเริ่มลำบากแล้วนะ ผมมาเข้าใจเอาตอนที่เห็นคนเมาและออกลายก็ตอนนี้เอง ลำบากจริงๆด้วย กว่าจะถึงที่พักก็เมากันแทบเดินไม่ไหวแล้วล่ะ คนจัดการทริปก็เหนื่อยสิครับ (≧∇≦) เพราะมีคนที่เดินไม่ไหวแล้ว ไปเที่ยวต่อก็ไม่ได้ เป็นแบบนี้ตลอดเลย อุตส่าห์ไปต่างจังหวัดทั้งทีแทบไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน เมาแล้วเมาอีก

* แพง やっぱり高い(Takai)!! ใช่ครับการท่องเที่ยวประจำปีที่เก็บเงินเฉลี่ยกัน แล้วไปแบบที่ผมเล่าข้างต้น ราคาที่เก็บค่อนข้างแพงมากครับ วิธีการเก็บเงินก็คือผู้รับผิดชอบดูแลการท่องเที่ยวที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาจะเก็บเงินที่ทุกคนต้องโดนหักจากเงินเดือน ล่วงหน้าตามอัตราส่วนที่ต้องจ่าย จนครบจำนวนเดือนที่จะเก็บ เช่น กำหนดเก็บเงิน 12 เดือน ก็จะหักมาเก็บในบัญชีที่เปิดไว้สำหรับท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งคนเก็บเงินจะรู้ว่าใครโดนเก็บเงินมากที่สุด เพราะจะเก็บเป็นสัดส่วนตามอาวุโส แต่ก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ก็เอาเรื่องเงินมาพูดไม่ได้ ที่จริงแล้วคนหนุ่มสาวไม่ค่อยอยากไปเท่าไหร่ เช่นมีสาวๆ บางคนก็ยอมให้เก็บเงินไปนั่นแหละ แต่พอใกล้ๆ จะไปเที่ยวก็จะหาข้ออ้างที่จะไปไม่ เป็นต้น แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า เหมือนไปทำงาน คือเที่ยวแบบต้องไปเพื่อให้รู้ว่าทำงานด้วยกัน อย่างไรก็ควรไป แต่บางทีไปแล้วไม่ใช่จะเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันนะครับ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ด้วยซ้ำ แต่กลับมาก็เข้าโหมดทำงานกันต่อ ก็ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันแต่ก็ไม่ใช่จะมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พอนึกภาพออกไหมครับ

นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่เพื่อนๆ อาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับชีวิตของคนทำงานบริษัทที่ญี่ปุ่น ถ้ามีคนในออฟฟิศมาถามผมว่า ท่องเที่ยวประจำปีของบริษัทสนุกไหม ผมหรือใครๆ ก็จะต้องตอบไปว่า ช่ายสนุก !! ใครจะกล้าบอกความจริง คนญี่ปุ่นเป็นแบบนี้หลายสถานการณ์เหมือนกัน วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น