ประกาศประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน 30 พ.ค. ขายซอง 18 มิ.ย. - 9 ก.ค. ยื่นชิงดำ 12 พ.ย. คาดได้ตัวใน ธ.ค. 61 เบื้องต้นมีเอกชนสนใจ 5 กลุ่ม เซ็นสัญญาต้นปี 62 จับตาเงื่อนไขให้ต่างชาติถือหุ้นไขว้และเกิน 49% ได้ เหตุต้องการผู้ร่วมประมูลมากๆ ขณะที่ให้เวลา 2 ปีจ่าย 1.06 หมื่นล้านฟื้นบริหารแอร์พอร์ตลิงก์
วันนี้ (24 พ.ค.) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างทีโออาร์ ได้แถลงถึงการดำเนินโครงการและกรอบเวลาในการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา”
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ในวันที่ 30 พ.ค. 2561 จะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งโครงการอย่างเป็นทางการ โดยจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจลงทุนและให้ข้อมูลเงื่อนไขการประมูลในเบื้องต้นซึ่งได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการคัดเลือกเป้าหมายว่าจะได้ตัวผู้ลงทุนภายในปี 2561 แน่นอน และหลังจากนั้นจะมีกระบวนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ประมาณต้นปี 2562 ระยะเวลา 5 ปี รูปแบบร่วมลงทุน PPP Net Cost อายุสัมปทาน 50 ปี ครบสัญญาทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐบาล ซึ่งประเมินมูลค่าไว้ที่ 3 แสนล้านบาท
รถไฟเชื่อม 3 สนามบินเป็น 1 ใน 5 โครงการพื้นฐานสำคัญที่คณะกรรมการอีอีซีกำหนดให้ดำเนินการก่อน เป็นโครงการใหญ่ของเอเชีย ได้รับความสนใจจากสถานทูตทุกแห่ง ดังนั้น กระบวนการต้องเปิดเผย ซึ่งในวันที่ 4 มิ.ย.คณะกรรมการอีอีซีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะประชุมนัดแรกภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซีฉบับใหม่ และวันที่ 7 มิ.ย.จะพบทูตประเทศต่างๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชี้แจงโครงการ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ขณะที่กฎหมายมีข้อยกเว้นกรณีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% หรือไม่นั้น ขอให้รอดูทีโออาร์ในวันที่ 30 พ.ค. เบื้องต้นเอกชนประมาณ 5 กลุ่มที่แสดความสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“โครงการนี้ได้ใช้เวลาร่าง พ.ร.บ.อีอีซี และร่างทีโออาร์ ประมาณ 7 เดือน และจะเริ่มประมูลแล้วซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 7 เดือน รวมทั้งหมด 14 เดือน ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ตั้งเป้าเปิดให้บริการทั้งระบบ ได้ในต้นปี 2567” นายอุตตมกล่าว
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า แผนการประกวดราคา ประกอบด้วย 1. ประกาศเชิญชวน ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 17 มิ.ย. 2561 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ 2. ขายเอกสารประกวดราคาวันที่ 18 มิ.ย. - 9 ก.ค. 2561 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ 3. ประชุมชี้แจงเอกชนที่สนใจ ครั้งที่ 1 วันที่ 23 ก.ค. 4. เอกชนผู้สนใจลงพื้นที่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ และแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง วันที่ 24 ก.ค. 2561
5. ประชุมชี้แจงเอกชนที่สนใจ ครั้งที่ 2 วันที่ 24 ก.ย. 6. เปิดรับคำถามจากเอกชน วันที่ 10 ก.ค. - 9 ต.ค.2561 โดยจะตอบคำถามให้เสร็จในวันที่ 30 ต.ค. 2561 และ 7. ยื่นเอกสารประมูลเสนอราคาวันที่ 12 พ.ย. 2561ซึ่งเอกชนมีเวลาในการเตรียมเอกสาร 5 เดือนก่อนยื่นซองประมูล โดยมติ ครม.วันที่ 27 มี.ค. 61 อนุมัติเห็นชอบโครงการ และได้กำหนดวงเงินที่อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ในวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลักจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ ทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ส่วนการเดินรถมี 3 ส่วน ระยะทางรวม 220 กม.จำนวน 15 สถานี ได้แก่ 1. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ความเร็ว 160 กม./ชม. มี 8 สถานี 2. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จำนวน 2 สถานี 3. รถไฟความเร็วสูง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จำนวน 5 สถานี ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 250 กม./ชม. ทั้งนี้ เอกชนจะต้องหาแหล่งเงินและพัฒนาการเดินทั้ง 3 ส่วน บริหารงานและซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลา 50 ปี และกำหนดใช้อาณัติสัญญาณสากล ซึ่งระบบของจีน, ยุโรป, ญี่ปุ่น เป็นสากล
ควัก 1.06 หมื่นล้าน จ่ายค่าระบบแอร์พอร์ตลิงก์ ปี 64 รับสิทธิ์บริหาร
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พ.ค.นี้จะประกาศเชิญชวนผ่าน เวปไซด์การรถไฟฯ, อีอีซี, กรมบัญชีกลาง, กระทรวงคมนาคม สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ รวมถึงทำหนังสือแจ้งไปยังสถานทูต โดยประมูลจะให้ยื่น 4 ซอง คือ ด้านคุณสมบัติ, ด้านเทคนิค, ด้านการเงิน ซึ่งจะกำหนดเกณฑ์คะแนน ซองที่ 4 เป็นข้อเสนอพิเศษ จะเป็นการแนะนำที่จะก่อประโยชน์ให้โครงการรัฐและประชาชน เป็นการพิจารณาแต่ไม่มีการให้คะแนน
โดยตัวแปรหลักในการคัดเลือก คือ ข้อเสนอที่จะให้รัฐร่วมลงทุน ซึ่งกรอบไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาทนั้นหากรายใดเสนอต่ำสุดจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือก สำหรับมูลค่าโครงการที่ 224,544.36 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วยจะเป็นค่าลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 168,718 ล้านบาท ค่าลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ ในส่วนค่าระบบอาณัติสัญญาและล้อเลื่อน 10,671.09 ล้านบาท โดยรัฐจะรับภาระโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 22,558.06 ล้านบาทเอง นอกจากนี้จะมีค่าพัฒนาที่ดิน (TOD) การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ บริเวณสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่อีกประมาณ 45,155.27 ล้านบาท
โดยหลังยื่นซองประมูล คณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมวันที่ 13 พ.ย. เพื่อตรวจสอบเอกสารข้อเสนอของเอกชน มีเวลาในการประเมิน เนื่องจากมีรายละเอียดด้านเทคนิค และการเงินประมาณ 1 เดือน แต่จะเร่งสรุปภายในสิ้นปี 2561
ในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์นั้น หลังลงนามสัญญาแล้ว ผู้บริหารรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะมีเวลาในการเตรียมพร้อม เช่น ซื้อขบวนรถใหม่ ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ 2 ปี จึงจะส่งมอบการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ให้เอกชน หรือในปีที่ 3 หลังลงนามสัญญา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า โครงการมีมูลค่าลงทุน 2.2 แสนล้านบาทโดยรัฐร่วมลงทุนไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาทและจะสร้างมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ 7 แสนล้านบาท ซึ่งประมูลนานาชาติ เพื่อต้องการผู้ร่วมประมูลมากที่สุด และให้บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถเข้าร่วมได้เกินกว่า 1 ราย โดยต้องมีข้อตกลงยืนยันว่าจะไม่ฮั้วกันและสถานทูตของประเทศนั้นๆ จะต้องมีหนังสือรับรองเข้ามาด้วย ไม่ให้เข้าข่ายการฮั้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า เงื่อนไขเรื่องสัดส่วนของต่างชาติ คาดว่าจะเปิดกว้างให้ต่างชาติร่วมลงทุนได้มากกว่า 49% เนื่องจาก พ.ร.บ.การรถไฟฯ ไม่ได้ห้ามไว้ ส่วนการกรณีถือหุ้นไขว้ เช่น กรณีรัฐวิสาหกิจจีน 2 รายแยกประมูลกันคนละกลุ่ม เข้าข่ายเป็นการถือหุ้นไขว้และมีประโยชน์ทับซ้อนกันจะต้องมีหนังสือรับรองจากรัฐบาลจีนว่าจะไม่มีการครอบงำกัน