คมนาคมตรวจทานสัญญาจ้างออกแบบและคุมงาน “รถไฟไทย-จีน” หวั่นมีปัญหาซ้ำรอย “ขายข้าวจีทูจีเก๊” คมนาคมหารืออัยการ ยืนยันรัฐวิสาหกิจจีนได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนมาดำเนินการชัดเจน พร้อมเซ็นจ้าง 4 ก.ย.นี้ ขณะที่ “ไจก้า” ส่งผลศึกษาพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเต็มรูปแบบระยะ 15 ปี หรือในปี 75 เตรียมเปิดรับฟังความเห็น พ.ย.นี้ นำร่องแปลง A รอคณะ กก. PPP เคาะตามขั้นตอน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ (2.1) และสัญญาที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (สัญญา 2.2) ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนที่ 1 จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. โดยจะมีการลงนามสัญญาในวันที่ 4 ก.ย. ที่ประเทศจีนนี้ ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จึงมีข้อเป็นห่วงในเรื่องความชัดเจนและไม่ต้องการให้มีปัญหาซ้ำรอยกับการขายข้าวจีทูจีในอนาคต
ทั้งนี้ คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับอัยการเพื่อตรวจสัญญา 2.1 และ 2.2 เพื่อความรอบคอบและชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและปฏิรูปแห่งชาติจีน( NDRC) มอบให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้ลงนามสัญญาร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีหนังสือการมอบอำนาจยืนยันชัดเจน ถ้อยคำชัดเจน ความหมายตรงกันทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งได้ตรวจสอบเรียบร้อนแล้ว พร้อมที่จะลงนามร่วมกัน
***ไจก้าส่งผลศึกษาพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเต็มรูปแบบในปี 2575
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ Mr. Takamasa HIROSE รองอธิบดีกรมเมืองฝ่ายวิศวกรรม กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure Transport and Tourism, MLIT) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ว่า ทางญี่ปุ่นได้นำเสนอผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเบื้องต้นแล้ว และในเดือน พ.ย.นี้จะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งแผนของไจก้าได้นำแนวคิดการศึกษาเดิมของการรถไฟฯ และของ ปตท.ในเรื่องสมาร์ทซิตี้ (Smart City) มาบูรณาการด้วย
ทั้งนี้ แผนหลักจะมีการพัฒนาพื้นที่เต็มรูปแบบของสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่โดยรอบ โดยสถานีกลางบางซื่อนั้นเป็นสถานีกลางที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมือง ด้วยระบบรถไฟทางคู่เชื่อมต่างประเทศ โดยรถไฟไทย- จีน และมีระบบรถไฟฟ้า โดยระบบขนส่ง บขส.และ ขสมก.เชื่อมต่อเข้าสถานีด้วย ส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะเป็นทั้งศูนย์ธุรกิจ อาคาร โรงแรม, พัฒนาตลาดจตุจักรเชื่อมกับวิถีชีวิตให้มีความทันสมัย, พัฒนาพื้นที่สีเขียว (Green Area), การเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งหมอชิตเก่ากับใหม่ด้วยทางเดินแบบ walk way โดยจะพัฒนาเต็มรูปแบบภายในปี 2575 (15 ปี) แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ อย่างไรก็ตาม จะไม่กระทบต่อแผนการพัฒนาพื้นที่แปลง A ขนาด 35 ไร่ ตั้งอยู่ด้านหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ตั้งอยู่ทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ เหมาะที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางระบบการขนส่ง และเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร แหล่งรวมอาคารสำนักงานที่ทันสมัย และธุรกิจบริการ ซึ่งขั้นตอนได้เสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) คาดว่าจะได้รับอนุมัติได้ภายในปีนี้