xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” เร่งจัดหลักสูตรอบรมวิศวกรจีน ยันจีนไม่ได้สิทธิ์รถไฟความเร็วสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” แจงรถไฟไทย-จีนเป็นของไทย จีนไม่ได้สิทธิ์ใดๆ โดย ร.ฟ.ท.เป็นผู้พัฒนาสถานีและพื้นที่ปากช่อง พร้อมเร่งเคลียร์ สภาวิศวกรและสถาปนิก ออกแบบหลักสูตรอบรมวิศวกรจีน เพื่อเซ็นสัญญาออกแบบใน ก.ค.นี้ และเร่งเจรจาบีบค่าจ้างออกแบบในกรอบไม่เกิน 1,824 ล้านบาท ยันเป้าตอกเข็มตอนแรก 3.5 กม. ส.ค.-ก.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 มิ.ย.ได้รับทราบคำสั่งมาตรา 44 แล้ว โดยขณะนี้ งานออกแบบได้ทำคู่ขนานไปแล้วมีความก้าวหน้า 95% คาดว่าจะลงนามสัญญาออกแบบกับจีนได้ภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งตามคำสั่งมาตรา 44 ให้ยกเว้น พ.ร.บ.เรื่องการประกอบวิชาชีวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรตามความเหมาสม ซึ่งได้แจ้งให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไทย ได้รับทราบแล้ว โดยทั้ง 2 สภาจะหารือเพื่อจัดหลักสูตร อบรม ทดสอบความรู้ เทคนิคพื้นฐาน ข้อกฎหมายต่างๆ สภาพภูมิประเทศของไทย ให้วิศวกรจีนได้เข้าใจสภาพของประเทศไทย

ทั้งนี้ แม้มาตรา 44 จะยกเว้น พ.ร.บ. แต่เพื่อความปลอดภัยจะให้วิศวกรและสถาปนิกจีนมาอบรมตามหลักสูตรที่ 2 สภาได้จัดทำ โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เสร็จก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาออกแบบ และ จะต้องเจรจาให้อยู่ในกรอบค่าจ้างที่ 1,824 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา มูลค่า 179,412 ล้านบาท โดยยังคงเป้าหมายจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน มิ.ย.เพื่อเริ่มการก่อสร้างในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

สำหรับรถไฟความเร็วสูงนั้น ผลตอบแทนทางเงินไม่มีกำไรแม้แต่ประเทศจีน รัฐบาลยังต้องอุดหนุนโครงการ แต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งจะมีการจัดพื้นที่บริเวณปากช่องเพื่อนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สามารถดำเนินการเอง หรือเปิด PPP

“โครงการนี้เป็นของไทย ทั้งการเดินรถ พื้นที่สองข้างทาง สถานีเป็นของไทย พนักงานไทยจะต้องเป็นคนขับรถ ประเด็นออกแบบโดยวิศวกรจีน ติดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบพัสดุ ราคากลาง ทำอย่างไรได้เร็ว ซึ่งติดเรื่องที่วิศวกรจีนออกขณะที่กฎหมายไทยระบุว่าอาชีพนี้ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบการในประเทศไทย ซึ่งต้องมาสอบใบอนุญาต ส่วนประเด็น จีทูจีนั้น รัฐบาลไทยมอบร.ฟ.ท. ส่วนจีนมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ซึ่งจะมอบรัฐวิสาหกิจจีนมาดำเนินการออกแบบเส้นทางและผลิตตัวรถ กระทรวงคมนาคมจึงได้เสนอใช้มาตรา 44 ช่วยเพื่อยกเว้นขั้นตอนการขอใบอนุญาต และจะเขียนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีไว้ในสัญญาออกแบบ, สัญญาควบคุมการก่อสร้าง, สัญญาระบบรถด้วย” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า โครงการรถไฟไทย-จีนรัฐบาลไทยได้ลงนาม MOU กับ จีน ตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2557 และได้ทำงานร่วมภายใต้คณะกรรมการร่วม เริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสมโครงการ และสรุปรายงานการศึกษาปลายปี 2558 ซึ่งคณะทำงานของจีนได้เข้ามาสำรวจ เพื่อออกแบบ 2559 เนื่องจากจะใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญและพัฒนาไปแล้วกว่า 20,000 กม. เพื่อลดระยะเวลาเดินทางและพัฒนาเมืองต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเมือง เคลื่อนย้ายประชากรด้วยระบบคมนาคมที่สะดวก

แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ตอน คือ กรุงเทพ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย โดยศึกษาออกแบบช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาก่อน แบ่งงานเป็น 2 รายการ คือ 1. สัญญาการก่อสร้าง ซึ่งจะใช้ผู้รับหมาไทย วัสดุในประเทศ สัดส่วน 75% 2. สัญญาออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างและงานระบบราง อาณัติสัญญา ตัวรถ ความเร็ว 250 กม./ชม. ใช้เทคโนโลยีจีน สัดส่วน 25%

ส่วนการก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ตอน ระยะทาง 253 กม. ประกอบด้วย ตอนที่1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ตอนที่ 2 จากปากช่อง-คลองขนานจิตร อ.สีคิ้ว ระยะทาง 11 กม.ตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119.5 กม.ตอนที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม. ซึ่งหลังลงนามสัญญาออกแบบแล้วแบบในตอนที่ 2,3,4 จะทยอยออกมา

โดยที่ผ่านมาใช้เวลาเจรจานานเนื่องจากต้องถอดแบบจีนมาเป็นภาษาอังกฤษและถอดรหัสวัสดุจีนเป็นรหัสมาตรฐานสากล เพื่อเทียบเคียงกับวัสดุภายในประเทศ เนื่องจากใช้วิศวกรจีน สถาปนิกจีน จีนจึงต้องรับประกันมาตรฐานความปลอดภัย

สำหรับที่มาโครงการรถไฟความเร็วสูง ร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ซึ่งไทยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 2 รัฐบาลที่ผ่านมา และเป็นเส้นทางที่เป็นการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ สำหรับส่งเสริมการเดินทางผู้โดยสารและท่องเที่ยว ลดเวลาในการเดินทาง จากจีน มาลาว ไทย เมืองที่อยู่ตลอดสองข้างทางจะได้ประโยชน์ และเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ สำหรับขนส่งสินค้าซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าถนน สินค้าของไทยจะขนส่งไปจีนในเวลาที่น้อยลงและสามรรถรับสินค้าจากจีนมายังท่าเรือแหลมฉบังได้ในอนาคต เป็นเส้นทาง One Belt One Road เชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงข่ายจีน จากคุนหมิง-เวียงจันทน์-กรุงเทพ ขณะที่ตอนนี้ไทย-มาเลเซียเชื่อมได้แล้ว และในอนาคต มาเลเซียจะเชื่อมกับสิงคโปร์ได้ จะเห็นว่าการเชื่อมโยงกรุงเทพ-หนองคายจะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ได้ ซึ่งการเชื่อมโยงเป็นวาระของทุกประเทศ จีน มีการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากจีนไปยุโรป สำเร็จ ประเทศแถบขั้วโลกเหนือ ไม่มีทางออกทะเลหลายประเทศหาทางเชื่อมไปยังประเทศที่ออกท่าเรือได้โดยพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยง
กำลังโหลดความคิดเห็น