รองหัวหน้า ปชป.ห่วงใช้ ม.44 อนุมัติจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง ทำไทยเสียประโยชน์หลายด้าน ชี้คนไทยควรมีส่วนร่วมด้วย ซัดหากใช้โครงการอื่นๆ ใช้ยกเว้นข้อบังคับแบบนี้ ประเทศคงไม่เหลืออะไร
วันนี้ (19 มิ.ย.) นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเอื้อให้รัฐวิสาหกิจจีนสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ว่าสำหรับตนเคยทำงานรับเหมาก่อสร้างในประเทศอื่นๆ มา รวมถึงประเทศในยุโรป พบว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศอื่นๆ จะออกกฎหมายยกเว้นข้อบังคับให้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แบบนี้ได้ในโครงการขนาดใหญ่นั้น ถ้ายึดตามหลักปฏิบัติทั่วไป ประเทศจีนสามารถออกแบบได้แค่แบบร่างเท่านั้น แต่รายละเอียดทั้งหมดนั้นผู้ที่จะออกแบบจะต้องเป็นวิศวกรสถาปนิกไทย เพราะว่าเขารู้ดีทั้งหมดว่ารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้นคืออะไรบ้าง อาทิ กฎกติกาด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม ของที่หาซื้อได้นั้นคืออะไร อาทิเหล็กเส้น เหล็กที่อยู่ในประเทศไทย และเหล็กที่อยู่ในประเทศจีนนั้นก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า การออกมาตรา 44 ในครั้งนี้ถือว่านำไปสู่หลายคำถามมากมาย ตนไม่ได้คัดค้านการเร่งให้เกิดรถไฟความเร็วสูง แต่ถ้าเร่งมากเกินไปจนเสียผลประโยชน์ในบางกรณี อาทิ เรื่องความปลอดภัย เรื่องการจ้างงานหรือเรื่องราคากลาง เราก็ต้องระมัดระวังด้วย โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่มาก ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก สามารถจ้างแรงงานไทยได้จำนวนหลายพันและสามารถช้วัสดุที่ผลิตในไทยได้เป็นจำนวนมาก ถ้าหากมีการยกเว้นก็หมายความว่าเขาจะสามารถใช้แรงงานเป็นคนจีนได้ทั้งหมดและใช้วัสดุที่มาจากจีนได้ ดังนั้น ประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์มาก และหากเขาทำเป็นภาษาจีนแล้วเราจะทำอย่างไร เหตุผลที่เราต้องมีกฎกติกาก็เพื่อจะรับรองในแง่ของความปลอดภัยของโครงการเหล่านี้ โครงสร้างทุกระบบต้องมีผู้รับรอง ถ้าหากทำตามกติกาแล้วหน่วยงานต่างๆของประเทศไทย อาทิ กรมโยธาธิการ ก็จะสามารถเข้าไปดูได้ว่าโครงสร้างที่จีนออกแบบมานั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ แต่เมื่อมีการใช้มาตรา 44 มายกเว้นตรงนี้แล้ว หน่วยงานไทยนั้นจะไม่ทราบมาตรฐานของประเทศจีนแล้วจะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติการก่อสร้างในส่วนต่างๆ ได้เลย แล้วถ้าหากเขามาทำโครงการ ทำเสร็จแล้ว แล้วกลับบ้านไปเลย และต่อมาโครงการเกิดปัญหาถามว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาแล้วจะเอาผิดต่อใครได้
นายเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องราคากลางมีการตั้งคำถามว่าราคาที่จีนตั้งขึ้นมานั้นเป็นราคาที่ดีที่สุดหรือไม่ เพราะว่าไม่มีการประมูลแข่งกันเลย กฎหมายระเบียบว่าด้วยพัสดุที่ต้องการให้มีการประมูลก็เพื่อจะให้แน่ใจว่าเราจะได้ราคาที่ต่ำที่สุดและได้คุณภาพที่ดีที่สุดที่ตามเราต้องการ แต่ตอนนี้ราคากลางเท่าที่ทราบก็คือราคาที่ทางจีนเสนอมา ถึงแม้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมา แต่ถามว่าอะไรจะเป็นหลักประกันว่านี่คือราคาที่เหมาะสมและดีที่สุดแล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทั้งไทยและจีนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างต่างๆ ด้วย อาทิ เรื่องโครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งการใช้มาตรา 44 มายกเว้นตรงนี้ก็จะทำให้เสียโอกาสในเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ ถ้าหากโครงการก่อสร้างต่างๆ ของประเทศไทยใช้วิธีนี้มาตั้งแต่แรก ประเทศไทยก็คงจะทำอะไรไม่เป็นเลย เมื่อก่อนเราก็สร้างโรงไฟฟ้าไม่เป็นแต่ทำไมตอนนี้เราถึงทำเป็นแล้ว ก็เพราะว่ามีการเรียนรู้ร่วมกัน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ตนจำได้ว่าเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยพูดว่าโครงการรถไฟไทยจีนจะไม่ใช้มาตรา 44 แต่จะใช้กฎหมายปกติในการจัดการ ตนขอถามว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงเปลี่ยนใจ ก็อยากให้เขาช่วยชี้แจงตรงนี้ด้วย เพราะโครงการนี้ลงทุนไปเกือบ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงควรจะสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยในหลายๆ ด้านตั้งแต่เริ่มก่อสร้างไปจนถึงเมื่อมีรถไฟวิ่งไม่ใช่แค่มีรถไฟอย่างเดียว
“เหมือนกับสร้างบ้าน มันเป็นบ้านไฮเทคเหลือเกิน พอเป็นบ้านไฮเทค เจ้าของบ้านก็บอกว่าข้าพเจ้าไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็นอะไร พี่เอาเลย สร้างบ้านเลยแล้วกัน ผมคิดว่ามันไม่ใช่ เจ้าของบ้านก็ต้องไปดูด้วยว่ามันใช่แบบที่เราต้องการหรือไม่” นายเกียรติกล่าว และว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ถือว่าอันตรายมาก ในวันนี้เราให้กับจีนได้ แล้ววันข้างหน้าญี่ปุ่นขอบ้าง ฝรั่งเศสขอบ้างแล้วเราจะทำอย่างไร เราจะไปปฏิเสธอย่างไรเพราะเคยให้จีนแล้วครั้งแรก ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วอนาคตประเทศไทยจะเหลืออะไร แล้วในอนาคตจะเกิดกรณีว่าโครงการทุกโครงการก็ทำให้ช้าลง แล้วพอมาถึงจุดหนึ่งผู้มีอำนาจก็บอกว่าอยากได้เร็วก็เลยออกระเบียบการเพื่อยกเว้นข้อบังคับอีกหรือไม่