“พิชิต” เร่งตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ชง คนร.ปลาย ก.ย.นี้ คาดเข้า ครม.ได้ใน 2 เดือน แยกอำนาจบริหารออกจาก ร.ฟ.ท. ปี 61 ประมูลนำร่องบางซื่อ, มักกะสันได้ ขณะที่พัฒนามักกะสัน 508.92 ไร่ มูลค่าเกือบแสนล้าน เผยนโยบาย EEC ช่วยกระตุ้นประมูลโซน A แปลง 1, 2, 3 กว่า 46 ไร่ได้ก่อน
วันนี้ (31 ส.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดการสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) โครงการทบทวนเพื่อศึกษาเพิ่มเติมผลการศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุน โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณพื้นที่ย่านมักกะสัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศึกษา ซึ่งมีภาคเอกชน นักธุรกิจ นักลงทุน เข้าร่วมรับฟังความคืบหน้าและเสนอความเห็นในการพัฒนาพื้นที่จำนวนมาก
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มักกะสันเป็นที่ดินแปลงใหญ่ใจกลางเมือง หากสามารถออกแบบการพัฒนาที่เหมาะสมจะเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มของพื้นที่ และทำให้เปลี่ยน กทม.เป็นเมืองที่มีความทันสมัยระดับสากล ทั้งทางเศรษฐกิจ จะมีผลด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบ ธุรกิจเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของ ร.ฟ.ท.นั้นจะมีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นบริษัทลูกขึ้นมาบริหารที่ดินแปลงใหญ่ได้ภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ปลายเดือน ก.ย.นี้ และคาดว่าภายใน 1 เดือนต่อไปจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะถือหุ้น 100% ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ แต่บริษัทลูกนี้จะแยกการบริหารจาก ร.ฟ.ท.เพื่อให้มีความคล่องตัวในการจ้างบุคลากรทั้งหมด, ในการระดมทุนและมีระบบการบริหารที่เป็นธรรมาภิบาลเทียบเท่าบริษัทมหาชน ซึ่งจะเสนอ ครม.เพื่อขอยกเว้นระเบียบรถไฟในบางเรื่อง โดยหลัง ครม.เห็นชอบบริษัทบริหารสินทรัพย์จะเริ่มพัฒนาโครงการได้ โดยในปี 2561 คาดว่าจะเปิดประมูลพื้นที่บางซื่อและมักกะสัน ได้
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น นายพิชิตกล่าวว่า จะเป็นคนละส่วนกับการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน ซึ่งคงไม่สามารถยกพื้นที่มักกะสันให้ผู้ที่จะมาลงทุนรถไฟความเร็วสูงได้ แต่ทั้งนี้อาจจะมีการเจรจาตามเงื่อนไขรูปแบบการพัฒนาร่วมกันได้ เช่น การแบ่งให้ลงทุนโดยคิดค่าใช้จ่ายต่ำ ส่วนการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน ขณะนี้ยังไม่สรุปต้องระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง นักลงทุน จากนั้นจะนำไปจัดทำทีโออาร์ และเสนอรัฐบาลขออนุมัติก่อน
“ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินจะเป็นตัวนำลูกค้าเข้ามักกะสัน ดังนั้นจะเป็นโครงการที่มาเสริม ขณะที่การพัฒนาที่ดินรถไฟมีหลายวิธี ทั้งการให้เช่า/ร่วมทุนพัฒนา (PPP) หรือ จะพัฒนาเอง เป็นต้น”
สำหรับมักกะสันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 508.92 ไร่ เป็นพวงราง 30 ไร่ สวน 150 ไร่ และพื้นที่พาณิชย์ 314 ไร่ ซึ่งการศึกษาทบทวนแบ่งออกเป็น 4 โซน มูลค่าเกือบแสนล้านบาท ได้แก่ โซน A ขนาด 139.82 ไร่ เป็นส่วนธุรกิจการค้า สถานีรถไฟความเร็วสูง โรงแรม ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า โซน B ขนาด 179.02 ไร่ เป็นธุรกิจสำนักงาน ธนาคาร โรงแรม โซน C ขนาด 151.40 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยและสาธารณสุข โรงเรียน โซน D ขนาด 38.68 ไร่ เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ
โดยแบ่งออกเป็น 17 แปลง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโซน A ในแปลง 1, 2, 3 ได้ก่อนเนื่องจากอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และคณะกรรมการ EEC ซึ่งเร่งรัดรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน โดยคาดว่าจะอนุมัติโครงการได้ในปี 2561 และเริ่มก่อสร้างได้เพื่อเปิดใช้ในปี 2566