xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ย้ำเงื่อนไขร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐอย่างรอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.แจงลงทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเปิดสัมปทาน 50 ปีเป็นเงื่อนไขร่วมลงทุน PPP Net Cost เอกชนรับความเสี่ยงด้านปริมาณผู้โดยสาร ระบุโครงการมีมูลค่าสูงจึงมีความเสี่ยงมาก ระยะเวลาคืนทุนนาน โดยเอกชนต้องลงทุน 2.2 แสนล้าน ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนใช้คืนไม่เกินค่างานโยธาไม่น้อยกว่า 10 ปี ยันเงื่อนไขร่วมลงทุนคำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐ และความเป็นไปได้ของโครงการ

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP Net Cost เพื่อให้ภาครัฐโอนความเสี่ยงด้านปริมาณผู้โดยสารให้กับเอกชน โดยรัฐดำเนินการการเวนคืนที่ดิน

สำหรับวงเงินที่รัฐบาลร่วมลงทุนกับเอกชนนั้นอยู่บนหลักการในการร่วมลงทุนไม่เกินมูลค่าก่อสร้างงานโยธา ตามผลการศึกษาหรือวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาตามที่เอกชนลงทุนจริง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ส่วนระยะเวลาการให้สัมปทานเอกชน 50 ปีนั้น เนื่องจากเป็นผลการศึกษาโครงการที่พบว่าขนาดของโครงการที่มีเงินลงทุนกว่าสองแสนล้านบาทเป็นการลงทุนที่สูงและมีความเสี่ยงมาก จึงต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนมากกว่าโครงการโดยทั่วไป โดยเอกชนจะต้องลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 220,000 ล้านบาท ภาครัฐจะทยอยผ่อนจ่ายเงินร่วมลงทุนให้เอกชนในกรอบวงเงินไม่เกินค่าก่อสร้างงานโยธาหลังจากที่เอกชนก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว โดยจะทยอยจ่ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการ และช่วยลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐลงได้

รูปแบบการร่วมลงทุนดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในอีกหลายด้าน เช่น ภาครัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงการขาดทุนจากการดำเนินงาน เช่น หากปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่ประมาณการไว้, ภาครัฐไม่มีความเสี่ยงด้านการเปิดให้บริการล่าช้ากว่า 5 ปี และสามารถควบคุมงบประมาณได้ เนื่องจากเอกชนจะไม่ได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และหากเอกชนมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ภาครัฐก็จะจ่ายเงินร่วมลงทุนเท่าเดิมโดยไม่เกินกรอบงบประมาณที่วางไว้ นอกจากนั้นสัญญายังกำหนดให้เอกชนต้องจ่ายค่าปรับหากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ภาครัฐมีโอกาสประหยัดเงินที่ร่วมลงทุนได้ หากมีการแข่งขันในการประมูล เนื่องจากเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจะพิจารณาจากผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิคที่ขอรับเงินร่วมลงทุนจากรัฐน้อยสุด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขการร่วมลงทุนดังกล่าวได้คำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐ ความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุน และการจัดสรรความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบแล้ว โดยภาครัฐไม่ได้เสียเปรียบเอกชนแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาร่วมลงทุน ทรัพย์สินทั้งหมดในโครงการก็จะตกเป็นของภาครัฐ

อีกทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสามารถสร้างผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง มูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลดระยะเวลาการเดินทาง ลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดอุบัติเหตุ และลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภาษีเข้ารัฐเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่ากว่า 650,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น