EEC เช็กความพร้อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรอบสุดท้ายก่อนชง ครม. ด้าน ร.ฟ.ท.ยันออก TOR มี.ค. เปิดประมูลเอกชน PPP Net Cost พ่วงรัฐอุดหนุน แต่ไม่เกินมูลค่างานโยธา เหมือนโมโนเรลสีชมพู และสายสีเหลือง “อานนท์” จัดคิวรถไฟทางคู่เฟส2 ประเดิมสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ กว่า 7.29 หมื่นล้านประมูลก่อน เปิดพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเชื่อมขนส่งจีนตอนใต้
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่า การการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงท่าอากาศยาน 3 แห่ง (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา) มูลค่าโครงการกว่า 2.06 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้รูปแบบการลงทุนมีความชัดเจนแล้ว ซึ่งตามเป้าหมายรัฐบาลต้องการให้ออกประกาศ (TOR) ในเดือน มี.ค.นี้ โดยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จะประชุมในวันที่ 26 ก.พ.เพื่อกลั่นกรองประเด็นที่เหลือ เช่น ข้อกฎหมายอีกเล็กน้อย หากไม่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่ขั้นตอนการประมูล ซึ่งมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน ให้ความสนใจ
แนวทางรัฐร่วมลงทุนเอกชน PPP Net Cost เป็น PPP100% โดยรัฐอุดหนุน แต่ไม่เกินมูลค่างานโยธา โดยมีค่างานโยธารวมกับค่าระบบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยจะทยอยผ่อนระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี อายุสัมปทานที่ 50 ปี (ระยะก่อสร้าง 5 ปี และบริหารการเดินรถ 45 ปี) โดยให้สิทธิเอกชนพัฒนาที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ บริเวณมักกะสัน 145 ไร่ และศรีราชาไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งจะมีผลตอบแทนเรื่องที่ดินทั้งโครงการประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท
*** รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 7.29 หมื่นล้าน เปิดพื้นที่ภาคเหนือเชื่อมจีนตอนใต้
ส่วนรถไฟทางคู่ระยะ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และรถไฟทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,174 กม. มูลค่าโครงการรวม 427,012.03 ล้านบาทนั้น นายอานนท์กล่าวว่า ในสายเหนือมี 3 เส้นทาง ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 62,883.55 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของ คชก. ช่วงเด่นชัย-เขียงใหม่ ระยะทาง 217 กม. วงเงิน 59,992.44 ล้านบาท เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม ส่วนช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 72,921 ล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางสายใหม่ กระทรวงคมนาคมกำลังพิจารณา เป็นเส้นทางที่ผ่าน EIA แล้วมีความพร้อมที่สุด หากบอร์ดสภาพัฒน์เห็นชอบจะเสนอ ครม.ได้ในเดือน มี.ค. และเปิดประมูลใน 3-4 เดือน
“ทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเป็นเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับ สปป.ลาว และจีนตอนใต้ และเปิดพื้นที่การพัฒนาและกระจายความเจริญไปสู่ภาคเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย ที่ไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อ โดยจะมี Container Yard : CY จำนวน 5 แห่ง ที่สถานีแพร่, พะเยา, ป่าแดด, เชียงราย, เชียงของ ใช้เวลาก่อสร้าง 48 เดือน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR ) 13.31% ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 1.02%”
อย่างไรก็ตาม รถไฟทางคู่ทั้ง 9 เส้นทางจะทยอยนำเสนอ ครม. และเปิดประมูลภายในปีนี้ ซึ่งนอกจากสายเหนือแล้ว ในส่วนของเส้นทางสายใต้ 3 เส้นทาง ได้แก่ ชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 24,293.54 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ วงเงิน 51,823.28 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 57,374.70 ล้านบาท
ส่วนสายตะวันออกเฉียงเหนืออีก 3 เส้นทาง คือ ขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 26,662.40 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,431.22 ล้านบาท และช่วง บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 65,738.91 ล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางสายใหม่