xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟอัด 5 แสนล้านเพิ่ม 14 สายใหม่ ปี 61 ลุยซื้อหัวจักร 134 คัน-รถโดยสารใหม่ 953 คัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.กางแผนลงทุนอีกกว่า 5 เสนล้านผุดโครงข่ายรถไฟสายใหม่เชื่อมต่อจังหวัดสำคัญและเมืองท่องเที่ยวอีก 14 เส้นทางครอบคลุม 61 จังหวัด ขณะที่ปี 61 เร่งลงทุนซื้อหัวรถจักร 134 คัน รถโดยสาร 953 คัน ทดแทนรถเก่าและรองรับทางคู่ที่ก่อสร้างเสร็จ “อานนท์” เร่งจดทะเบียนบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ มี.ค.นี้เริ่มถ่ายโอนทรัพย์สิน ชง กก.PPP ประมูลแปลง A ย่านพหลฯ นำร่อง

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. วงเงินค่าก่อสร้างรวม 113,660.20 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเดือน ต.ค. 2565 ส่วนรถไฟทางคู่ระยะ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,174 กม. มูลค่าโครงการรวม 427,012.03 ล้านบาทนั้นอยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งวางเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2566 และเดือน ส.ค. 2567 ตามลำดับ

ทำให้ในปี 2567 จะมีระยะทางรวม 4,832 กม. มีความจุทางรถไฟเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปัจจุบัน ครอบคลุม 53 จังหวัด โดยเป็นระบบทางเดี่ยว 1,568 กม. (32.41%) ทางคู่ 3,157 กม. (65.33%)

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้วางโครงข่ายทางรถไฟสายใหม่เชื่อมต่อจังหวัดสำคัญรวม 14 เส้นทาง วงเงินลงทุน 501,455 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มโครงข่ายครอบคลุมจาก 47 จังหวัดเป็น 61 จังหวัด อีกทั้งเป็นเส้นทางเชื่อมกับเมืองท่องเที่ยวตามนโยบายอีกด้วย ได้แก่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่า 85,345 ล้านบาท EIA ได้รับอนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างเสนอ ครม. นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกตอนบน (E-W Upper) จากแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (256 กม. วงเงิน 96,785 ล้านบาท) โดยศึกษาความเหมาะสมแล้ว เตรียมของบออกแบบในปี 2563 ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ (291 กม. วงเงิน 47,712 ล้านบาท ของบปี 2563 สำหรับการศึกษาความเหมาะสม ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม (355 กม. วงเงิน 60,352 ล้านบาท) อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ

โครงการเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกตอนบน (E-W Lower) กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน (36 กม. วงเงิน 6,497 ล้านบาท) กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี-บ้านภาชี (221 กม. วงเงิน 41,771 ล้านบาท) ศรีราชา-ระยอง (70 กม. วงเงิน 13,357 ล้านบาท) มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด (197 กม. วงเงิน 34,649 ล้านบาท) อยู่ระหว่างเริ่มศึกษาความเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางชุมพร-ระนอง (116 กม. วงเงิน 18,748 ล้านบาท) สุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น (158 กม. วงเงิน 34,237 ล้านบาท) สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก (76 กม. วงเงิน 17,147 ล้านบาท) ทับปูด-กระบี่ (68 กม. วงเงิน 15,223 ล้านบาท) ศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด (162 กม. วงเงิน 20,435.50 ล้านบาท) อุบลราชธานี-ช่องเม็ก (87 กม. วงเงิน 9,197 ล้านบาท) ซึ่งบางเส้นกำลังศึกษาความเหมาะสม บางเส้นอยู่ในขั้นออกแบบรายละเอียด

สำหรับแผนงานในปี 2561 นี้จะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ซึ่งได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ส่วนทางคู่ระยะ 2 จะเร่งประมูลและลงนามสัญญาภายในเดือน ธ.ค. 2561 พร้อมกันนี้จะเดินหน้าการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน ได้แก่ ซื้อรถจักร 50 คัน วงเงิน 6,240 ล้านบาท คาดว่าจะจัดทำร่างทีโออาร์เสร็จในเดือน ก.พ.นี้ และเปิดประมูลให้เรียบร้อยในเดือน มิ.ย., เช่าหัวรถจักร 50 คัน เพื่อทดแทนรถเก่า, โครงการจัดหารถจักร 34 คัน จัดหารถโดยสารใหม่ 429 คัน จัดหารถดีเซลราง 524 คัน รองรับรถไฟทางคู่เฟส1, 2 ซึ่งจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือน มิ.ย.

ส่วนการตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สินจะดำเนินการจดทะเบียนในเดือน มี.ค. และในเดือน ก.ย.จะเริ่มทยอยส่งมอบทรัพย์สินไปยังบริษัทลูก ส่วนบริษัทลูกเดินรถสายสีแดง จะเสนอ ครม.อนุมัติได้ในเดือน ก.ค. และจดทะเบียนบริษัทในเดือน ส.ค. 2561 โดยแนวทางนั้นจะอัปเกรดจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ในปัจจุบันมาบริหารสายสีแดง

“ที่ดินแปลง A ติดสถานีกลางบางซื่อ เสนอคณะกรรมการ PPP แล้ว ซึ่งมีความเห็นว่าควรรวมแปลง B, C, D เป็นแปลงใหญ่เพื่อทำให้มีผลตอบแทนดีขึ้น ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยยืนยันแยกแปลง A ประมูลก่อน เพราะการรวมแปลงจะมีข้อเสียที่ผู้เข้ามาลงทุนได้น้อยเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก”  


กำลังโหลดความคิดเห็น