“คมนาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.ปรับรถไฟสายสีแดงช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ตัดค่าซื้อขบวนรถเพิ่ม คาดอาจปรับลดวงเงินลงจาก 1.76 หมื่นล้าน ให้เวลา 2 อาทิตย์ก่อนสรุป เสนอบอร์ด สศช.พร้อมช่วงรังสิต-มธ.รังสิต 7.59 พันล้าน และเตรียมเสนอ ครม.ใน ก.พ. ต่อไป เร่งเปิดประมูล Q3/61
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้สอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท ซึ่งยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น รูปแบบการเดินรถของโครงข่ายสายสีแดงทั้งหมด การบริหารการเดินรถ และข้อมูลต่างๆ ที่ปรับเป็นข้อมูลปัจจุบัน โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมภายใน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ เพื่อสรุปข้อมูลก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สศช.ภายในเดือน ก.พ. และคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการได้ประมาณเดือน มี.ค.เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างภายในปี 2561 ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาพร้อมที่จะจัดทำทีโออาร์แล้ว คาดว่าหลัง ครม.อนุมัติจะใช้เวลาทำทีโออาร์ประมาณ 2-3 เดือน จึงจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 3/2561
ร.ฟ.ท.เสนอจัดซื้อขบวนรถในส่วนของสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายาเพิ่มเติม โดยระบุว่าช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา เป็นการเดินรถลักษณะเป็นฟีดเดอร์ มีความถี่การเดินรถ 6-9 นาที/ขบวน อีกทั้งเป็นช่วงที่อยู่ในเขตเมือง ส่วนสายสีแดงหลัก ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน บางซื่อ-รังสิต และ รังสิต-มธ.รังสิต จะมีความถี่ในการเดินรถ 4 ขบวน/ชม.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าสายสีแดงทุกช่วงได้มีการประเมินปริมาณผู้โดยสารไว้แล้วกรณีมีการต่อขยายออกไป รวมถึงสายสีแดงอ่อนที่จะส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่สายหลักนั้น ร.ฟ.ท.ควรทำสมมติฐานให้ชัดเจนในการประเมินปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อสถานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท.ในอนาคตอย่างไร รวมถึงเรื่องการลงทุนซื้อรถเพิ่มเฉพาะสายสีแดงอ่อนมีความจำเป็นแค่ไหน การใช้รถร่วมในสัญญา 3 สายสีแดงเพียงพอหรือไม่ หรือจำนวนรถที่มีจะรองรับการให้บริการเดินรถได้กี่ปี ส่วนการเดินรถสายสีแดงจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ โดยเป้าหมายเปิดเดินรถในปี 2565
อย่างไรก็ตาม หากประเมินแล้วจำนวนรถในสัญญา 3 เพียงพอจะทำให้วงเงินของสายสีแดงอ่อนที่จะเสนอปรับลดลง แต่หากไม่เพียงพอมีความจำเป็นต้องซื้อรถเพิ่มก็ต้องเพิ่ม
สำหรับสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) นั้น ร.ฟ.ท.ได้ลงนามกับกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ, ระบบไฟฟ้าและส่งกำลัง, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบติดต่อสื่อสาร, ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท เบื้องต้นจัดหารถจำนวน 130 ตู้