xs
xsm
sm
md
lg

รวมแผนลงทุน"ไฮสปีดฯ-แอร์พอร์ตลิงก์" ซอยย่อยทีโออาร์ทางคู่13สัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คมนาคม ทบทวนแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูง"กรุงเทพ-ระยอง" แอร์พอร์ตลิงก์ "พญาไท-ดอนเมือง" เผย EEC เคาะให้เป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน เพื่อบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงสุด เชื่อม 3 สนามบินไร้รอยต่อ ด้าน "พิชิต" สรุปปรับแบบรถไฟทางคู่"จิระ-ขอนแก่น"ยกระดับช่วงสถานีบ้านไผ่ ค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 896 ล. ด้านซูเปอร์บอร์ดฯ แบ่งทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 สาย เป็น 13 สัญญา หวังเปิดทางรายกลางลงสนามประมูลได้มากขึ้น

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่ประชุมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ล่าสุด เห็นว่าผู้ให้บริการโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ,โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมืองและ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ในปัจจุบัน ช่วง พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ ควรเป็นรายเดียว หรือ Single Operator เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเชื่อมการเดินทางระหว่าง 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง,สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา ได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องทบทวนทั้ง 3 โครงการใหม่

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ รูปแบบหรือวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเนื่องจากขณะนี้ โครงการไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กิโลเมตร วงเงิน 152.528 ล้านบาท ได้ศึกษาเสร็จแล้ว ขณะที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ในปัจจุบัน เส้นทางพญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีทั้งระบบรถไฟฟ้าด่วน ( Express Line) และรถไฟฟ้าในเมือง (City Line) สามารถรองรับความต้องการเดินทางในเมืองได้ ส่วนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง หากจำเป็นอาจจะปรับรูปแบบเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือยังเป็นระบบแอร์พอร์ตลิงก์เหมือนเดิมก็ได้ ซึ่งไม่ส่งกระทบต่อการออกแบบเพราะใช้รางขนาด 1.435 เมตรเหมือนกัน เพียงแต่วัตถุประสงค์คือต้องการให้มีผู้ประกอบการรายเดียวทั้ง 3 โครงการ

"เรื่องนี้ ทางคณะกรรมการ EEC จะตัดสินใจ ซึ่งไม่น่าจะใช้เวลานาน เพราะวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า Single Operator ก็ต้องไปดูโจทย์ว่า แอร์พอร์ตลิงก์ไปดอนเมืองจะทำอย่างไร และส่วนที่เดินรถในปัจจุบัน จะทำอย่างไร"นายพิชิตกล่าว

***ปรับแบบทางคู่"จิระ-ขอนแก่น"ค่าก่อสร้างเพิ่ม 896 ล.

นายพิชิต กล่าว ภายหลังประชุมติดตามการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ว่า ได้หารือกรณีที่ต้องมีการปรับแบบก่อสร้างช่วงสถานีบ้านไผ่ ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนว่า ช่วงก่อนเข้าสถานีบ้านไผ่มีการออกแบบเป็นคันดินตลอดระยะทาง 2 กม. ซึ่งทางรถไฟจะตัดผ่ากลางเมือง ช่วงถนนแจ้งสนิทและถนนมนตรี ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่าเกิดจากข้อมูลไม่ตรงกัน ซึ่งได้มีการปรับแบบใหม่ โดยยกโครงสร้างสูงยกข้ามถนนแจ้งสนิทเพื่อเข้าสู่สถานีบ้านไผ่และข้ามถนนมนตรี ระยะทางประมาณ 650 เมตร ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 896 ล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางจิระ-ขอนแก่น กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ 25,387.86 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 24,708.38 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 679.48 ล้านบาท โดยร.ฟ.ท.ทำสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเคซีเอช ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง และ บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงินรวม 23,962 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง23,430 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 532 ล้านบาท ซึ่งค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอีก 896 ล้านบาท ทำให้วงเงินสัญญาเพิ่มเป็น 24,326 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบที่ได้รับอนุมัติ โดยร.ฟ.ท.จะต้องเร่งสรุปรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มทราบต่อไป

***ซอยทีโออาณ์รถไฟทางคู่เป็น13สัญญา

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) กล่าว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อร่วมกับคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถึงแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 5 สาย ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้แยกทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 สาย เป็น 13 สัญญา สัญญาละ 5,000-10,000 ล้านบาท ประกอบด้วยระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ 5 สาย มี 3 ทิศ เป็น 3 สัญญา ส่วนรางและงานโยธา แบ่งเป็น 10 สัญญา ในจำนวนนี้มีงานอุโมงค์ 3 แห่ง รวมเป็น 1 สัญญา

พร้อมกันนี้ ได้ปรับเงื่อนไขทีโออาร์เดิม เช่น จากเดิมต้องให้เครื่องจักรกับรฟท.เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ ที่ประชุมยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อลดค่าก่อสร้างลง รวมถึงในเรื่องประสบการณ์ก่อสร้างงานที่ประมูลจากเดิมกำหนดเคยดำเนินการมาไม่ต่ำกว่า 15% ของมูลค่าโครงการ ลดเหลือ 10%

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 มีนาคม คณะกำกับการจัดซื้อจัดจ้างมีการประชุมเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อดูการรายละเอียดต่างๆ ที่ รฟท.จะเสนอมา หลังจากนั้นจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเร็วที่สุด

ด้านนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า คณะกรรการร.ฟ.ท.จะนำผลการประชุมไปหารือเรื่องกรอบเวลาการประมูลงาน อีกทั้งยังต้องแก้ไขปรับปรุง TOR ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการขอปรับปรุงแก้ไข TOR ใหม่ภายในเดือน เม.ย. และหลังจากนั้นจึงจะได้ประกาศยกเลิก TOR ประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ทั้ง 5 สายนี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น