xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชงสายสีแดง “บางซื่อ-มธ.รังสิตและศาลายา” วงเงิน 2.66 หมื่นล้าน ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกเดินรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.สรุปแผนก่อสร้างรถไฟสายสีแดงต่อขยาย แดงเข้ม “รังสิต-มธ.รังสิต” และแดงอ่อน “ตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา” วงเงินรวมกว่า 2.66 หมื่นล้าน เสนอคมนาคม ด้าน ร.ฟ.ท.ยันตั้งบริษัทลูกเดินรถเองต่อจากสายสีแดง “บางซื่อ-รังสิต” คาดสัญญา 3 สั่งซื้อรถเพิ่มได้ “พิชิต” สั่ง ร.ฟ.ท.วิเคราะห์ตัวเลขผลตอบแทนที่ชัดเจนใน 1 เดือน เร่งชง คนร.ตัดสินได้ใน ก.ค.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ภายในต้นเดือน มิ.ย.นี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะสรุปแผนงานโครงการรถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง วงเงินรวม 26,639.07 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในแผนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2560 เสนอต่อกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว

โดยในส่วนของการเดินรถนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอขอเดินรถสายสีแดงเองตั้งแต่ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อยืนยันแผน ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ โดยสัญญา 3 สายสีแดงนั้นคาดว่าจะมีเงื่อนไขที่ ร.ฟ.ท.จะสามารถจัดซื้อรถเพิ่มได้ในราคาเดิม กรณีที่ต้องเดินรถต่อขยายจากรังสิต-มธ.รังสิต และตลิ่งชัน-ศิริราช, ศาลายาด้วย

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.สรุปรายละเอียด วิเคระห์ตัวเลข (Feasibility Study) ในการเดินรถสายสีแดงเอง ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทภายใต้การกำกับของ ร.ฟ.ท.เพื่อบริหารโครงการรถไฟสายสีแดง พร้อมทั้งแผนเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สินที่ไม่ใช่จากการเดินรถให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% เพื่อลดปัญหาการขาดทุนขององค์กรเสนอภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเร่งจัดทำแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการประชุมเดือน ก.ค.ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามขั้นตอนเมื่อการเดินรถชัดเจนจะทยอยเสนอรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด) สศช. ตามขั้นตอน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป

สำหรับสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) นั้น ร.ฟ.ท.ได้ลงนามกับกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ให้เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ, ระบบไฟฟ้าและส่งกำลัง, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบติดต่อสื่อสาร, ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท เริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (48 เดือน) ประมาณต้นปี 2563 

โดยจัดหารถจำนวน 130 ตู้ โดยตามผลศึกษาจะจัดรถออกเป็น 2 ชุด ประกอบด้วย 1. ขบวนละ 4 ตู้ จำนวน 10 ขบวน วิ่งให้บริการช่วงบางซื่อ-รังสิต (รวม 40 ตู้) 2. ขบวนละ 6 ตู้ จำนวน 7 ขบวน ให้บริการช่วงบางซื่อ-รังสิต และอีก 8 ขบวนให้บริการช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยอาจจะมีการปรับใหม่อีกครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับการจัดความถี่ในการเดินรถ ซึ่งคาดว่าในปีที่เปิดให้บริการสายสีแดงจะมีผู้โดยสารประมาณ 129,000 คน/วัน/ทิศทาง และเพิ่มขึ้นเป็น 230,000 คน/วัน/ทิศทางในปี 2585
กำลังโหลดความคิดเห็น