xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเซ็นรถไฟฟ้า "ชมพู-เหลือง" สัมปทานแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- จ่อเซ็นสัมปทาน "ชมพู-เหลือง" กว่า แสนล. 16 มิ.ย.นี้"คีรี"ยันต่อขยายเส้นทางไม่เอื้อบางกอกแลนด์ ย้ำมองที่ความสะดวกของผู้โดยสารและการแก้จราจร เตรียมเซ็นซื้อรถไฟฟ้าพร้อมกัน รวม 288 ตู้ มูลค่า 5 หมื่นล. ยันแหล่งเงินไม่มีปัญหา คาดศึกษาEIA ส่วนต่อขยาย 1.5 ปี เร่งเสนอตามขั้นตอน และพร้อมจับมือพันธมิตรเดิม ลงทุน EEC ขอแค่รัฐมีโครงการชัดเจน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ( มหาชน ) เปิดเผยว่า จะมีการลงนามสัญญาสัมปทาน (PPP-Net Cost) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี 53,519.50 ล้านบาท และ สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท โดย กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ( BSR Joint Venture)กับรฟม .ในวันที่16 มิ.ย. นี้ และคาดว่าจะเซ็นสัญญาด้านแหล่งเงินทุนรวมถึงเรื่องการจัดหาระบบรถไฟฟ้าด้วย แม้ว่าจะมองเป็นโครงการที่ไม่น่าลงทุน แต่บีทีเอสจะใช้ประสบการณ์บริหารการก่อสร้างและเดินรถที่คุ้มต้นทุนได้ โดยมีผู้ก่อสร้างมาร่วมทุน และเลือกรถที่ราคาเหมาะสม มีระบบที่ดี ปลอดภัย อาจจะตัดสิ่งฟุ่มเฟือยออก ทำให้ต้นทุนต่ำลงได้
ส่วนข้อเสนอซองที่ 3 เพิ่มเติม นั้น จะต้องผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในช่วงส่วนต่อขยาย เพิ่มเติม ทั้ง2สาย คือ ช่วงต่อขยายสายสีชมพู เข้าโครงการเมืองทองธานี อีก 2สถานี ระยะทาง2.8 กิโลเมตร และช่วงต่อขยายสายสีเหลือง โดยการเชื่อต่อไปตามถนนรัชดาภิเษกไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว บริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร อีก 2สถานี คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1ปีครึ่ง และ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน ระยะที่ 2 และทางสคร. ต้องเห็นชอบก่อน ซึ่งบริษัทพร้อมดำเนินการทันที

ทั้งนี้ รฟม.กำหนดให้ยื่น 3 ซองคือ ซองด้านเทคนิค ซองการเงิน และซองที่ 3 คือข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งจะพิจารณาเมื่อเป็นผู้ชนะในซองการเงินแล้ว โดยข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวหากมีความถูกต้อง จึงจะพิจารณา ซึ่ง กลุ่ม บีเอสอาร์ เสนอซองที่ 3 เพื่อให้โครงข่ายสมบูรณ์มากที่สุด โดยเรียนรู้มาจากสายสีม่วง ที่ขาดตอน ทำให้กระทบต่อความสะดวกของผู้โดยสาร รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่มีปัญหา หรือแม้แต่ รถไฟฟ้า MRT ตัวเลขผู้โดยสารยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะขาดความต่อเชื่อม ไม่ใช่บริการไม่ได้ ดังนั้นจึงเสนอต่อขยายสายสีชมพู และสีเหลือง โดยลงทุนเองทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ผู้โดยสารจะเดินทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าได้หลายสาย มีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถไฟฟ้าทุกสายมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ปัญหาการจราจรจะลดลง

"กรณีระบุว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการต่อเข้าไปในพื้นที่อิมแพค เมืองทองธานี ของบางกอกแลนด์ มองเป็นการเอื้อประโยชน์กันนั้น ต้องบอกว่า อิมแพค ใช้มานานและวันนี้ เป็นที่ซึ่งรัฐบาลและเอกชนไปใช้ทำกิจกรรม และเกิดปัญหาจราจรมาก หากต่อเชื่อมรถไฟฟ้าไปได้ จะทำให้เกิดความสะดวกแน่นอน หากสิ่งแวดล้อมไม่มีปัญหา

โดย สีชมพู ขยายเส้นทางเข้าไปในศูนย์ประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. มี 2 สถานี สถานีแรกตั้งอยู่บริเวณอาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ และสถานีที่สองบริเวณทะเลสาบ และส่วนราชการ ทางแยกนี้จะแยกออกจากสถานีศรีรัช ซึ่งในปีที่ผ่านมาศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มีผู้ใช้บริการถึงกว่า 10 ล้านคน/ปี และในเมืองทองธานีมีประชาชนอยู่อาศัยกว่า 150,000 คน

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งมีจุดสิ้นสุดที่แยกรัชดาตัดกับถนนลาดพร้าว ได้เสนอให้ขยายเส้นทางต่อไปตามถนนรัชดาภิเษกอีกประมาณ 2.6 กม. สิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานี N 10 ( บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24 ) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ( จากหมอชิตไปคูคตที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ) โดยเสนอให้มีสถานีรับ - ส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี สถานีแรกอยู่ประมาณกึ่งกลางของเส้นทางส่วนต่อขยายนี้ และสถานีสุดท้ายบริเวณก่อนถึงแยกรัชโยธิน โดยในเฟสแรกจะจัดซื้อรถรวม 288 ตู้ ขบวนละ 4 ตู้ แบ่งเป็น สายสีเหลือง 120 ตู้ ชมพู 168 ตู้ มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล. โดยแผนระยะยาว สีชมพูจะต่อเป็น 6 ตู้ /ขบวน.
กำลังโหลดความคิดเห็น