สภาการพยาบาล จับมือ สสส.- คณะพยาบาล 5 สถาบัน มอบรางวัลนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพสุดเจ๋ง “ศิริราช” คว้ารางวัลสร้างเสริมสุขภาพคนทำงานดีเด่น รพ.สต.เชียงแหว อุดร เปิดเมนูอีสานรักษ์ไต คว้ารางวัลนวัตกรรมใหม่ดีเด่น ขณะที่ “รพ.สงขลานครินทร์” คิดค้นแผ่นยางพาราป้องกันแผลกดทับ คว้านวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสภาการพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์ 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชียงใหม่ บูรพา มหิดล สงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 2 - 3 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. โดยมีการประกวดผลงานนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพน่าสนใจจากทุกภาคของประเทศ
รศ.ดร.วรรณภา ศรีธัญรัตน์ ประธานคณะกรรมการประกวดนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ผลงานนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพดีเด่น ในปี 2560 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม จากนวัตกรรมทั้งหมด 46 เรื่อง ประกอบด้วย กลุ่มแรกคือ นวัตกรรมที่ได้พัฒนาในศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพแล้วมีการต่อยอด ขยายผล ซึ่งนวัตกรรมดีเด่นคือ “โครงการ งานศัลย์ฯก้าวไกล....ใส่ใจสุขภาพ” ของพยาบาลศัลยศาสตร์และศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศิริราช เป็นการออกแบบวิธีการสร้างเสริมสุขภาพของพยาบาลผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องเข้าเวรสลับเปลี่ยนทุก 24 ชั่วโมง ทำให้ 40% ของพยาบาลในแผนกมีน้ำหนักเกิน และ 80% ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงออกแบบโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพโดยตรวจสุขภาพก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมส่งเสริมให้เดินวันละ 10,000 ก้าว โดยใช้เครื่องนับก้าวเพื่อช่วยกระตุ้นการเดินให้ถึงเป้าหมาย โครงการจดข้อมูลลงในไดอารี่สุขภาพ ช่วยเตือนความจำและเกิดชุมชนคนรักสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย รวมถึงการใช้ MOTTO : L-I-V-E ปฏิญาณตนเพื่อเป็นแรงจูงใจการเข้าร่วมกิจกรรม ส่งผลให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพในทุกแผนกพยาบาลในโรงพยาบาลศิริราช
สำหรับผลงานระดับดีมาก คือ โครงการสร้าง เสริม สุข กลุ่มวัยทำงาน โดยศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านบึง จับมือร่วมกับ บริษัท เลซี่บอย (ประเทศไทย) จำกัด สถานประกอบการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกให้กับพนักงาน มีตลาดนัดสุขภาพ เวลาพักมีการยืดเหยียดกายและขยายผลไปยังสถานประกอบการหลายแห่ง และโครงการเตรียมความพร้อมในการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กที่ใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน ของโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นการทำงานที่รุกที่ออกจากห้อง ICU ไปประสานกับโรงพยาบาลชุมชนและครอบครัวผู้ป่วย เนื่องจากมีคนไข้ที่ไม่สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ การอยู่ในห้อง ICU เป็นเวลานานย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งการรักษาและค่าเดินทางของญาติผู้ป่วย จึงหาวิธีช่วยเหลือถึง 2 ปี และทำได้สำเร็จ โดยให้โรงพยาบาลชุมชนที่ใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุดรับผู้ป่วยไปดูแล และทำให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลชุมชนสามารถดูแลเขาได้ โดยมีการพัฒนาทักษะของโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงทักษะการดูแลของครอบครัว
กลุ่มที่ 2 นวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ โดยผลงานดีเด่น คือ โครงการพัฒนากลุ่มอาหารสุขภาพรักษ์ไต พัฒนาโดยคลินิกหมอครอบครัว รพ.สต.เชียงแหว จ.อุดรธานี ทำงานร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านเพื่อให้ความรู้ถึงอาหารสุขภาพที่ลดเบาหวานและความดัน มีการคิดสูตรเมนูอีสานลดไต ลดเค็ม ส่วนระดับดีมาก คือ “การพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลคนพิการมนุษย์ล้อ” ของโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ที่สามารถสร้างเครือข่ายการดูแลคนพิการทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือมนุษย์ล้อทั้งอาชีพ ระบบสวัสดิการ และการดูแลสุขภาพ
และกลุ่มที่ 3 นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ โดยผลงานดีเด่น คือ แผ่นป้องกันแผลกดทับจากยางธรรมชาติ หออภิบาลผู้ป่วยศัลยกรรม ฝ่ายบริการพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากการใส่สายออกซิเจนเป็นเวลานานทำให้เกิดแผลกดทับ จึงหาวิธีป้องกันด้วยวัสดุหลายชนิด จนออกแบบจากแผ่นยางพาราในชุมชน ซึ่งมีการทดลองใช้พบว่า ไม่เกิดอาการแพ้ และมีราคาที่ถูกเพียง 6 บาท ส่วนผลงานดีมากคือ กล่องเก็บถุงนมแช่แข็ง ของพยาบาลจากหอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด (NMCU) โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จากการพบปัญหาเวลาแม่ปั๊มนมที่อาจใช้ปะปนกัน เพื่อป้องกันการหยิบผิด และสามารถเลือกใช้ก่อนหลังได้ง่าย รวมถึงป้องกันอุณหภูมิจากการเปิดตู้เย็นแล้วความเย็นไม่หาย โดยออกแบบกล่องเก็บน้ำนมที่ใช้กับตู้เย็นที่สามารถปรับระดับได้และใช้งานได้สะดวก
รศ.ดร.วรรณภา ให้ข้อคิดว่า ในการทำงานของพยาบาลจะมีปัญหา ความไม่สะดวก หรือปัญหาของผู้รับบริการ พยาบาลต้องมีแนวคิดและวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกมากขึ้น ทำอย่างไรให้เข้าถึงง่าย หรือป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายปลอดภัยกับผู้ป่วย ทั้งหมดต้องอาศัยสมรรถนะในการพัฒนาเพื่อหาช่องทางในการแก้ไขปัญหา หรือเป็นการป้องกันตั้งแต่แรก