อดีต ส.ส.กทม.แฉเพิ่ม รวมสัญญารถไฟฟ้าสีน้ำเงิน หมกเม็ดผลตอบแทนการลงทุนร้อยละ 9.75 ในปี 92 แต่ข้อเท็จจริง รฟม.วืดรายได้ ทำรัฐเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน บี้รัฐชี้แจงด่วน วอนองค์กรต่อต้านทุจริตช่วยค้าน งงรัฐสองมาตรฐานให้ประกวดราคาสายสีชมพู-เหลือง ทั้งที่เดินรถต่อเนื่องเหมือนสายสีน้ำเงิน ขู่สภาเปิดเมื่อไหร่เจอสอบแน่
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความความไม่ชอบมาพากลของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ว่าการรวมสัญญาส่วนต่อขยายกับสายรัชมงคล ที่จะหมดสัญญาในปี 2572 ไว้ด้วยกันทำให้รัฐเสียประโยชน์ เพราะเมื่อสายรัชมงคลกลับมาเป็นของ รฟม.สามารถดำเนินการเองโดยอาจจ้างบริหารซึ่งตนคาดว่าน่าจะมีรายได้จากค่าเดินรถและค่าโฆษณาไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทเมื่อถึงปี 2592 การระบุในสัญญาของส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินว่า รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งเมื่อบีอีเอ็มมีผลตอบแทนการลงทุนเกิน 9.75 เปอร์เซ็นต์ทำให้รัฐเสียหาย เพราะในเอกสารประเมินการลงทุนมีการระบุว่าบริษัทจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ 9.75 เปอร์เซนต์ ในปี 2592 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดสัญญาพอดี เท่ากับ รฟม.ไม่มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากบริษัทดังกล่าวเลย
นายวิลาศกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอ้างมาตลอดว่าการรวมสัญญาและการกำหนดผลตอบแทนดังกล่าวรัฐไม่เสียประโยชน์ แต่กลับไม่เคยพูดความจริงว่าในระหว่างการเจรจาบริษัทมีการทำเอกสารประเมินรายได้ในแต่ละปีนับตั้งแต่วันเริ่มต้นสัญญาจนถึงปี 2592 ระบุผลตอบแทนว่าจะได้ 9.75% ในปีที่ 2592 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดสัญญา แล้วทำไมรัฐบาลจึงเซ็นสัญญาแบบนี้ทั้งที่รู้ว่าไม่มีโอกาสที่ รฟม.จะได้ผลตอบแทนจากบริษัทดังกล่าวเลย นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ออกมาแถลงต่อสาธารณะก็ยืนยันว่าประเทศได้ประโยชน์ จงใจปกปิดข้อเท็จจริงนี้กับประชาชนหรือไม่ อยากให้รัฐบาลชี้แจงในประเด็นนี้ต่อสาธารณชนด้วย ทั้งนี้ไม่ทราบว่าตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไปร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมทราบเรื่องนี้หรือไม่ ขอฝากให้ไปตรวจสอบด้วยว่าได้เห็นเอกสารดังกล่าวหรือไม่ เพราะถ้าเห็นต้องคัดค้านอย่างรุนแรงเนื่องจากเสียหายกับประเทศชาติ
นายวิลาศยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองซึ่งไปชนกับสายสีเขียวซึ่งบีทีเอสดำเนินการอยู่ ก็เป็นการเดินรถต่อเนื่อง ไม่ต่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่รัฐบาลกลับให้มีการประกวดราคา ซึ่งบริษัทบีอีเอ็มก็ไปยื่นซองประกวดราคาด้วยแต่แพ้ ตนมีคำถามว่าเหตุใดโครงการนี้จึงให้มีการประกวดราคาไม่ใช้วิธีเจรจาเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สะท้อนว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จึงอยากให้สื่อมวลชนสอบถามนายกรัฐมนตรีว่ามาตรฐานของ รฟม.ในการดำเนินโครงการต่างๆ อยู่ตรงไหน ทั้งนี้ตนจะตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อไหร่ที่มีสภาก็จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างแน่นอน