“คณิศ แสงสุพรรณ” คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 61 ตัวถึง 5% หลังรัฐบาล และเอกชน เดินหน้าลงทุนโครงการในเขตอีซี รวมกันไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยในอีก 5 ข้างหน้า ยังเติบโตต่อเนื่องได้ถึงราว 5% พร้อมดึงสถาบันอาชีวะศึกษา-บริษัทเอกชนร่วมกันพัฒนาแรงงานระดับคุณภาพป้อนอีอีซี ตั้งเป้าสร้างแรงงานอาชีวะเพิ่มขึ้นอีก 6,000 คนต่อปี จากปัจจุบันที่มีแค่ 300 คนต่อปี ด้าน "ผอ. สนามบินอู่ตะเภา" เผยความคืบหน้าการจัดทำร่างทีโออาร์โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 สนามบิน จะเสร็จสิ้นในเดือน มี.ค. นี้ และจะสรุปรายชื่อเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าลงทุนในปลายปี 61 คาด 2 โครงการจะดำเนินการก่อสร้างไปพร้อม ๆ กัน และพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 66
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า หลังจากการร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วก็เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปี 61 จะขยายตัวได้ถึง 5% และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้คาดว่าจะมีคำขอรับส่งเสริมโครงการลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาทตลอดปี 2561 และเมื่อมีการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่เข้ากับการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาในเขตอีอีซี ตามวงเงินที่บีโอไอคาดไว้แล้ว ก็จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องไปในปีหน้าเติบโตได้ 5% ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาขยายตัวตามศักยภาพที่แท้จริงของประเทศ และเมื่อการเดินหน้าการลงทุนในโครงการอีอีซีทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมกันไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวต่อเนื่องไปในระดับสูงขึ้นราว 5% จากที่ผ่านมา เศษฐกิจไทยขยายตัวเพียงแค่ 3% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพจริงของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายคณิศ ยังกล่าวถึงแผนการลงทุนอีอีซี ในช่วง 5 ปีแรกนั้น จะประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม 15 โครงการ คือ เมืองการบินภาคตะวันออก หรือสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตามพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ทางหลวงและมอเตอร์เวย์ การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเคมีชีวภาพขั้นสูง อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร การท่องเที่ยวภาคตะวันออก ศูนย์กลางด้านธุรกิจระดับโลก เขตการค้าเสรี เมืองใหม่ บนพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา พัทยา และระยอง
ด้านแผนการเตรียมบุคลากรด้านแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาพื้นทีในอีอีซีนั้น สำนักงานอีอีซี ได้ทำการหารือกับวิทยาลัยอาชีวะในเขตภาคตะวันออกแล้ว เพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตรด้านอาชีวะ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตบุคลากรเพิ่มจากเดิม 300 คนต่อปี เพิ่มเป็น 6,000 คนต่อปี โดยระหว่างการศึกษาของนักเรียนอาชีวะ บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในอีอีซีจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายให้เดือนละกว่า 4,000 บาทต่อเดือน โดยเมื่อศึกษาในชั้นปีที่ 2 แล้วก็จะรับเข้าฝึกงาน และหลังจบการศึกษาแล้ว บริษัทต่างชาติจะรับนักเรียนอาชีวะทั้งหมดนี้เข้าทำงานกับบริษัทต่อไป
สำหรับการขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวะในอีอีซีนั้น จะมีอยู่ราวกว่า 50,000 คน นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิ การยังเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 อนุมัติหลักสูตรใหม่จากเดิมต้องใช้เวลา 2 ปี เหลือระยะเวลาอนุมัติ 2 เดือน และนำผู้เชี่ยวชาญในโรงงานบริษัทเอกชนที่ได้รับใบรับรอง มาช่วยสอนเด็กนักเรียนอาชีวะ เพื่อรับประสบการณ์ตรงมาช่วยพัฒนาแรงงานคุณภาพ และการพัฒนาเมืองอีอีซีในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้มาพัฒนา โดยเน้นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม 22 แห่งมาพัฒนา จึงต้องระวังถึงเรื่องเก็งกำไรราคาที่ดินอย่างมาก เมื่อเขตอีอีซีพัฒนา เมือง ที่อยู่อาศัย สำนักงานบริษัท จะขยายออกไปในรัศมี 20-30 กิโลเมตร
พล.ร.ต. ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า แผนพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จะมีมูลค่าลงทุนในโครงการ ประมาณ 200,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 สนามบิน คือ อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง มูลค่าโครงการ 64,300 ล้านบาท จะจัดทำร่างทีโออาร์ได้ในช่วง มี.ค. นี้ และจะสรุปรายชื่อเอกชนที่ได้รับเลือกเข้ามาดำเนินการในช่วงปลายปี 61 ทั้งนี้ คาดว่าทั้งสองโครงการจะดำเนินการควบคู่กันไป และพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2566
โดยในช่วง 5 ปีแรก ประเมินว่าจะมีผู้ใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา 15 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนในช่วง 10 ปี และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในช่วง 15 ปี โดยตัวเลขดังกล่าวมาจากบทเรียนการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ จึงต้องเปิดให้เอกชนเพียงรายเดียวบริหารพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ แต่สนามบินอู่ตะเภาพร้อมจัดทำสถานที่ (Pickup Counter) จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้กับบริษัทเอกชน เขตปลอดสินค้าอากรคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว จึงดำเนินการได้ในพื้นที่ต่าง ๆ