xs
xsm
sm
md
lg

“คณิศ” เผยปีแรกอีอีซีดึงเงินลงทุน 3 แสนล้าน ย้ำเป็นต้นแบบเปลี่ยนแปลงประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)
เลขาธิการ อีอีซี ย้ำรอไม่ได้ ช้าอีก 5 ปี โดนอินโดนีเซีย - เวียดนาม แย่งฐานลงทุนของอาเซียนแน่ เผยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อนุมัติหมดแล้ว 1 ปีที่ผ่านมา ดึงเงินลงทุนได้ถึง 3 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 50% ระบุอีอีซีจะเป็นต้นแบบเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและความคิดของคนในประเทศ



วันนี้ (29 ม.ค.) ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “วันนี้ของ EEC และ เชื่อมโลกให้ไทยแล่นอย่างไร” ในงานสัมมนา “EEC ไม่มีไม่ได้” ในโอกาสครบรอบ 35 ปี “ผู้จัดการ” ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นสถานีหลักทางเศรษฐกิจของไทยในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการผลิต โครงสร้างการผลิตเดิมที่เป็นอุตสาหกรรมแรงงานอยู่ในเมืองไทยไม่ได้แล้ว เนื่องจากค่าแรงเพิ่มขึ้น คนน้อยลง และคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านจะกลับประเทศ เราต้องเปลี่ยนมาเป็นงานทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาคการผลิตรุนแรงมาก ถ้าเราตามไม่ทัน เราตกขบวนแน่ ถ้าประเทศไทยช้าเกิน 5 ปี เราตกขบวน ประเทศที่จะเข้ามาแทนคือ อินโดนีเซีย กับเวียดนาม ตัวเลขยืนยันแบบนั้น วันนี้เทคโนโลยีหลายอันการพัฒนาคนเมืองไทย ต่ำกว่า อินโดนีเซีย และต่ำกว่าเวียดนาม ถ้ายังปล่อยไปอีก 5 ปี ไม่ทันแน่ เราไม่มีทางเลือก จึงผลักดันพื้นที่ชายทะเลภาคตะวันออกขึ้นมาใหม่เพื่อจะเป็นสถานีหลักด้านเศรษฐกิจของไทยในพื้นที่อาเซียน

ดร.คณิศ สรุปว่า ในอีอีซีตอนนี้ มี 4 กลุ่มที่ต้องทำ กลุ่มแรกคือ โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ 2 คือเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ กลุ่มที่ 3 การท่องเที่ยว กลุ่มที่ 4 การพัฒนาเมือง และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้มีสภาพที่ดีขึ้น ยกระดับขึ้น เป้าหมายคือให้พื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เข้าใกล้กรุงเทพฯ หรือเชื่อมกรุงเทพฯ เป็นชิ้นเดียวกัน

ตอนนี้ โครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ทำไปแล้ว อนุมัติหมดแล้ว คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา การขยายท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมเอารถไฟรางคู่เข้าไปเชื่อมท่าเรือ เพื่อจะขนของทางรางมากขึ้น ยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

ตัวรถไฟความเร็วสูงอนุมัติแล้ว กำลังจะออกทีโออาร์ สนามบินก็อนุมัติแล้วกำลังจะออกทีโออาร์ ทำเป็นศูนย์การซ่อมบำรุง อากาศยานที่อู่ตะเภา เป็นการลงทุนระหว่าง TG กับแอร์บัส เป็นศูนย์ซ่อมอัจฉริยะ

เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยอีกว่า ปี 2560 ที่ผ่านมาหลังจากเริ่มโครงการได้ 1 ปี แต่มีคนมาขอลงทุนในพื้นที่แล้วประมาณ 300,000 ล้าน เพิ่มขึ้นประมาณ 49% 84% เป็นการขอการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้ง 10 อุตสาหกรรม เป็น 5 อุตสาหกรรมใหม่ 54% และเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม 30%

ดร.คณิศ กล่าวว่า การทำอีอีซีเป็นการผสมผสานพลังจากภายในและภายนอกประเทศ เช่น เส้นทางรถไฟไทย - จีน เป็นครั้งแรกที่เราจะเสียบปลั๊กเข้าเมืองจีนได้ นอกจากนี้ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือเอาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาเพื่อสอนให้เราเก่ง อย่างไรก็ตาม เราจะให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเป็นอุตสหกรรมหลัก เบื้องหลังจริงๆ เราจะใช้บริษัทไทย กับใช้เงินไทยให้มากที่สุด ดันเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าให้ได้ เวลาประมูลจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับใช้บริษัทไทย ทำไมเราถึงใช้แต่เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว เพราะเราไม่ทำแข่งคนไทยด้วยกัน

อันหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอีอีซี คือ เราใช้อีอีซีเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และความคิดคนไทย ยกตัวอย่างเช่น ผังเมือง ทางกรมผังเมือง โยธาธิการผังเมืองเคยทำแต่ผังจังหวัด ตามเขตการปกครอง แต่วางหลายจังหวัดเชื่อมกันไม่เป็น ไม่เคยทำ จึงขอ ม.44 มาทำให้เป็น อีกหน่อยระบบนี้จะไปใช้ที่จังหวัดอื่นได้ เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนร่วมทุนกับภาครัฐ เอกชน เมื่อก่อนใช้เวลา 40 เดือน ภายในอีอีซีตอนนี้ทำเหลือ 8 เดือน หลังจากทำตรงนี้เสร็จ จะทำเปลี่ยน พ.ร.บ. ของกระทรวงการคลังอีก โดยใช้อีอีซีเป็นฐาน

สุดท้ายเรื่องคน การจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน ขบวนการนี้มันบิดเบือนไปนาน เราจะใช้ขบวนการอีอีซี เข้าไปจัดการ เพราะฉะนั้นอีอีซีจึงทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการย่อยระบบพวกนี้และสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อจะให้พื้นที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยเอาไปใช้งานได้

ดร.คณิศ กล่าวย้ำว่า พ.ร.บ. อีอีซี จำเป็นจะต้องมี เพราะอีสเทิร์นซีบอร์ดเคยมีแล้วมันหายไป ถ้ามี พ.ร.บ. อาจอยู่ต่อ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการอยู่ต่อไม่ใช่เฉพาะการมี พ.ร.บ. ต้องมีความต้องการด้วย เมื่อมีกฎหมายแล้วจึงขอให้ช่วยกันสนับสนุนอีอีซี ในฐานะที่จะเป็นศูนย์รวมการสร้างการลงทุน ศูนย์รวมการสะสมเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนไทยในอนาคต

คำต่อคำ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ บรรยายหัวข้อ “วันนี้ของ EEC และ เชื่อมโลกให้ไทยแล่นอย่างไร”

สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติครับ และ Congratulation สำหรับผู้จัดการนะครับ ที่มีอายุ 35 ปี คือ 35 ปีนี้ ใกล้เคียงกับอีสเทิร์นซีบอร์ดมาก เกิดพร้อม ๆ กัน วันนี้ อีสเทิร์นซีบอร์ด กำลังจะได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง ก็หวังว่า เครือผู้จัดการจะได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง เป็นสิ่งที่ดีที่พวกเราช่วยกันทำให้ประเทศนี้ไปได้ดีขึ้น ผมตอนนี้รับหน้าที่เป็น เลขาธิการ อีอีซี เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ประมาณซักปีหนึ่ง แต่ต้องเรียนว่าเรื่องนี้ไม่ได้จะทำปีนี้ วางแผนมารวมๆ แล้วก่อนหน้านี้ปีกว่า 2 ปี ค่อยๆ ทำกันมาจนถึงวันนี้ มีหลายเรื่องที่เกิดขึ้น มีหลายเรื่องที่พยายามช่วยกันผลักดัน มีปัญหาหาบ้าง มีความสำเร็จบ้าง วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง

วันนี้เมื่อเช้า อาจารย์ สมคิด เลกเชอร์ให้ค่อนข้างดีนะครับ ถ้าท่านได้ฟังเมื่อเช้าก็เป็นเวลาที่คุ้มค่าสำหรับเวลาที่มามาก หลายประเด็นน่าสนใจก่อนที่จะมาดูตรงนี้ว่า อีอีซี ไม่มีไม่ได้ มันคืออะไรกัน อาจารย์สมคิด พูดถึงว่า ศตวรรษนี้เป็นศตวรรษของเอเชียแล้ว โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมา มันเกิดลักษณะของที่เรียกว่า reverse globalization โลกาภิวัตน์ที่มันเกิดขึ้น มันเริ่ม reverse ค่อนข้างรุนแรง ข้อที่น่าสังเกตคือ เอเชียเชื่อมโยงกันใกล้มากขึ้น อาจเป็นเพราะมีเซนทิเมนท์ จากทางฝั่งตะวันตกจากอเมริกา เพื่อที่จะเปลี่ยนประเทศเป็นอเมริกันเฟิร์ส ทำให้ดูเหมือนว่าเอเชียเข้าใกล้กันมากขึ้น

เมื่อ 2 วัน ก่อนก็มีการประชุมที่จะดึง ทีพีพี กลับมาทำใหม่ ญี่ปุ่นกับอินเดียคุยกัน ทีพีพี ครั้งนี้ ไม่มีอเมริกา ส่วนใหญ่จะเอเชีย ทีนี้มาดูการเชื่อมโยงเอเชีย ที่มันแปลกคือ จะดีหรือไม่ดีก็ตาม พื้นที่ที่เราอยู่เขาเรียก อินโดไชน่า ตั้งแต่โบราณกาล ที่เรียกอินโดไชน่า เพราะฝรั่งเขาเรียกเราว่า อินโดไชน่า ระหว่างอินโดกับจีนไม่รู้จะเรียกอะไร เลยเรียกว่า อินโดไชน่า แต่ยังไงคำว่า อินโดไชน่ามันก็มีความหมายของมัน มันเป็นตัวที่เชื่อม อินเดียกับจีนเข้าด้วยกัน เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ว่านั่นเป็นคาแรคเตอร์ เราใช้ประโยชน์จากมันได้

อินโดไชน่าที่จะเกิดขึ้นนี่ น่าสนใจมากขึ้น เมื่อจีนพูดถึง One Belt One Road ที่พูดถึงของจีนครั้งหลัง พูดมาตอนแรกก็พูดถึงว่าจะทำโครงการนู้นนี้ ปรากฏว่ามีแรงต่อต้านเยอะ ตอนหลังจีนเลยใช้ คำว่า One Belt One Road initiative เป็นความริเริ่ม หมายความว่าจะดึงเพื่อนๆ ในเอเชีย ในโลก เข้าทำงานร่วมกัน มีคนเคยพูดไว้ว่า One Belt One Road ครั้งนี้ อาจเป็น Globalization ครั้งใหม่ ที่นำโดยจีน ถ้าถามว่า Globalization ในประวัติศาสตร์โลกมีมากี่ครั้ง สรุปได้ซัก 3 ครั้ง ครั้งแรกคือ Globalization เมื่อสามารถเดินเรือข้ามทวีปได้ ประเทศตะวันตกทำเรื่องค้าทาส ดึงคนแอฟริกา ดึงคนประเทศอื่นไปเป็นทาส

Globalization ที่สอง เมื่อมีการพัฒนาด้านอาวุธมากขึ้น เราก็เกิดระบบอาณานิคมเป็น Globalization แบบหนึ่ง ท่านคงเข้าใจดีว่า Globalization พวกนี้ หมายความว่าอะไร

อันที่ 3 ที่อาจารย์สมคิดพูดถึง หมายถึง Globalization ด้านการเงิน ใช้ไอเอ็มเอฟ เวิลด์แบงก์ และ WTO เข้ามาจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก อันนี้คืออันที่ 3 มันจะอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือ และความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในยุคที่ 4 ที่พูดถึงนี่ มันจะอยู่ในมือเอเชียหรือเปล่า แต่หวังว่า Globalization ครั้งนี้ ที่เราคุยกัน ความจริงแล้วในเอเชียที่แปลกคือไม่ค่อยได้รบกันหรอก ตอนหลังมันรบกับคนอื่นมากกว่า คนเอเชียไม่ได้มีความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของประเทศ โอเค อันนั้นคือส่วนที่เกิดขึ้นนะครับ ความร่วมมือในเอเชีย พอเป็นอินโดไชน่ามันก็คือ อาเซียน คำว่าอาเซียนหลักๆ คือสุวรรณภูมิ ที่เขาจะเรียกว่าตอนนี้เขาใช้คำว่า อินแลนด์อาเซียน คือมีตั้งแต่ พม่า มาไทย มาลาว มากัมพูชา มาเวียดนาม และขึ้นไปจีนตอนใต้ เราเรียกว่า อินแลนด์อาเซียน พอเป็นแบบนี้ มันเลยเป็นภาพพจน์ใหม่ว่า เราจะทำอะไรในอินแลนด์อาเซียนนี้ อาเซียนที่เหลือจะเป็นประเทศเกาะอยู่ทางใต้

เพราะฉะนั้น เราเลยสรุปว่าถ้าถึงตอนนี้เรากำลังจะบอกว่า อีอีซี ที่พูดถึง 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง พื้นที่ชายทะเลภาคตะวันออกมาทำ มันกำลังจะกลายเป็นสถานีหลักทางเศรษฐกิจของไทยในภูมิภาคอาเซียน อาจารย์สมคิดใช้คำว่า เป็นสถานีหลัก เป็นสถานีหลักทางเศรษฐกิจของไทยในภูมิภาคอาเซียน มันเกิดสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมา พูดตรงๆ คือ มีทั้งดีและไม่ดี แต่เราก็ผ่านประสบการณ์นั้นมา คือใน 10 ปี ที่ผ่านมา เราตีกันหนักมาก ตีจนไม่มีการลงทุน ตีจนไม่มีเทคโนโลยี

อันที่ 2 คือ ในเมื่อเป็นแบบนั้นมันเกิดการเปลี่ยนแปลง ทางด้านโครงสร้างการผลิต คือโครงสร้างการผลิตเดิม ที่เป็นโครงสร้างอุตสาหกรรมแรงงานมันอยู่ในเมืองไทยไม่ได้แล้ว เนื่องจากค่าแรงเพิ่มขึ้น คนน้อยลง และคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านคงไม่อยู่กับเรานาน ถ้าคุณเห็นประเทศพม่า ขยายตัว 8% ลาว 7% เขมร 8% เวียดนามเกือบ 7% ถ้าจะมาจากลาว คนที่มาจากพม่า เขาต้องกลับประเทศเขาแน่ เพราะเศรษฐกิจเขาขึ้นมา ตอนนี้ จีดีพีลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในซีแอลเอ็มวี ห่างจากฟิลิปปินส์ไม่เยอะ วันนี้ ซีแอลเอ็มวีวิ่งเข้ามาใกล้อาเซียนไฟว์เต็มแก่ เขาพร้อมจะกลับประเทศเขา

ขบวนการนี้ เราเลยเห็นว่า labour intensive ของประเทศไทย อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะไปประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องปกติ มันก็เกิดช่องว่างในประเทศ อุตสาหกรรมที่หายไป งานที่หายไป จะเอาอะไรมาใส่ เลยคิดว่า ต้องเป็นงานทางด้านเทคโนโลยี บังเอิญมันเกิดเทคโนโลยีการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรุนแรงครั้งนี้ ดิจิทัลที่เข้ามามันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน ภาคการผลิตรุนแรงมาก ถ้าเราตามไม่ทัน เราตกขบวนแน่ และมีคนเคยถามว่า แล้วทำไมมาทำตอนนี้ ไม่รอรัฐบาลหน้าค่อยทำ ผมเรียนตรงๆ ว่าถ้าประเทศไทยช้าเกิน 5 ปี เราตกขบวน คนที่จะเข้ามาแทนคือ อินโดนีเซีย กับเวียดนาม ไม่ได้ขู่ ตัวเลขยืนยันแบบนั้น เพราะฉะนั้น วันนี้เทคโนโลยีหลายอัน การพัฒนาคนเมืองไทย ต่ำกว่า อินโดนีเซีย และต่ำกว่าเวียดนาม

วันนี้ ถ้ายังปล่อยไปอีก 5 ปี ไม่ทัน กลับมาคือ ไม่มีทางเลือก ต้องสร้างกำลังผลักดันใหม่ ก็เลือกพื้นที่ชายทะเลภาคตะวันออกอย่างที่อาจารย์สมคิดพูดให้ฟัง เพื่อจะเป็นสถานีหลักด้านเศรษฐกิจของไทยในพื้นที่อาเซียน

ผมไม่มีเวลามากนัก เพราะมีหลายท่านสำคัญที่จะมาพูดให้ท่านฟัง ดับบลิวเอชเอก็ดี บีเอ็มดับเบิลยูก็ดี พวกนี้เข้ามาช่วยงานเราตั้งแต่ต้น อย่างที่บอกไม่ได้เริ่มทำมา ออฟฟิศตั้งมาได้ซัก 9 เดือน 10 เดือน แต่ว่างานที่ทำมาก่อนหน้า ทำมานาน เพื่อจะช็อตเวลา ผมขออนุญาตเอาวิดีโอมาฉายให้ดู หลายท่านอาจยังไม่ได้ดู อีอีซี ทำอะไรบ้าง ใช้เวลาซัก 8 นาที มันจะเห็นภาพรวมทั้งหมด และผมจะสรุปให้ฟังว่า สรุปตอนท้าย จะบอกว่า หลักๆ ของเราต้องทำอะไรบ้าง เช่น ผสมผสานพลังข้างใน ข้างนอกยังไง เราจะทำกฎหมายไปทำอะไร เรามีปัญหาอะไรบ้าง ที่กำลังทำอยู่ ขออนุญาตวิดีโอ เชิญครับ

-------- ฉายวิดีโอ ---------------

ขอบคุณมากครับ อันนั้น เป็นวิดีโอที่มันพยายามจะบอกว่า เราทำอะไรบ้าง และเรากำลังทำไปแล้วอะไรบ้าง ประเด็นคือว่า ตอนนี้ มันมีหลายเรื่องที่ทำไป แต่ที่ให้ไปดูวิดีโอเพราะมันมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่ พอมีหลายเรื่องเกี่ยวข้อง มันเลยเป็นภาพที่ออกมาเป็นวิดีโอดีกว่า สรุปตอนนี้ มี 4 กลุ่มที่ต้องทำ กลุ่มแรกคือทำเรื่อง infrastructure ชัดๆ กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ 2 คือเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ กลุ่มที่ 3 คือทำเรื่องท่องเที่ยว กลุ่มที่ 4 ทำเรื่องเมือง และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้มีสภาพที่ดีขึ้น ยกระดับขึ้น เป้าหมายคือให้พื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เข้าใกล้กรุงเทพฯ หรือเชื่อมกรุงเทพฯ เป็นชิ้นเดียวกัน ในอนาคตจะไม่มีจังหวัดที่เรียกว่า ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มีในชื่อในเขตการปกครอง แต่สภาพความเป็นอยู่ของเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงเป็นชิ้นเดียวกัน

ตอนนี้ โครงสร้างใหญ่ๆ พื้นฐานใหญ่ๆ ตอนนี้ทำไปแล้ว อนุมัติหมดแล้วคือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ เชื่อมดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ทำไมต้องเชื่อม เพราะดอนเมืองกับสุวรรณภูมิแน่นมาก ตอนนี้มีคนมาเกิน 17 ล้านคน ถ้าไม่เอาอู่ตะเภามาใช้ ไม่มีสนามบินใช้ ต้องเอารถไฟความเร็วสูงมาเชื่อม

อันที่ 2 คือ ท่าเรือไม่พอ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องขยาย สิ่งที่ต้องขอคือ เอารถไฟรางคู่เข้าไปเชื่อมท่าเรือ เพื่อจะขนของทางรางมากขึ้น วันนี้ ขนของทางราง 7% ต้องขนให้ได้ 30% ไม่งั้นรถแน่นไปไม่ได้ คุณคงไม่เชื่อว่าตอนนี้มีถนนที่ไปแถว อีสเทิร์นซีบอร์ด 22 เลน วันนี้รถติดเพราะครึ่งหนึ่งของ 22 เลน ถูก occupy โดยรถขนของ ต้องเอาของไปอยู่บนราง

อันที่ตามมาคือ จะต้องยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ความจริงสนามบินอู่ตะเภาสามารถที่จะรองรับคนได้ 60 ล้านคน ขนาดเท่าสุวรรณภูมิ ถ้าใช้ได้จะเป็นประโยชน์ ทุกวันนี้ทิ้งไว้เฉยๆ

ตัวรถไฟความเร็วสูงอนุมัติแล้ว กำลังจะออกทีโออาร์ สนามบินก็อนุมัติแล้วกำลังจะออกทีโออาร์ ทำเป็นศูนย์การซ่อมบำรุง อากาศยานที่อู่ตะเภา จะเป็นการลงทุนระหว่าง TG กับแอร์บัส ขนาดใหญ่ เป็นศูนย์ซ่อมอัจฉริยะ ซ่อมเครื่องบิน 350 แอร์บัส 350 อย่างที่เรียนให้ทราบ แหลมฉบังทำ มาบตาพุดขยายต่อ

ปีที่ผ่านมา 2560 เราเริ่มโครงการนี้มาได้ 1 ปี ปีที่แล้วเป็น preparation การเตรียมตัว แต่มีคนมาขอเงินลงทุนในพื้นที่แล้วประมาณ 300,000 ล้าน จากเดิมที่อยู่ประมาณ 200,000 ตอนนี้ขยายขึ้นมาประมาณ 300,000 ล้าน ขึ้นมาประมาณ 49% 84% เป็นการขอการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ ทั้ง 10 อุตสาหกรรม เป็น 5 อุตสาหกรรมใหม่ 54% และเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม 30% กระแสการลงทุนมาแล้ว ตอนนี้เราเลยประกาศ วันที่ 1 เดือนหน้า เราจะขอประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมมากขึ้น เป็นพิเศษ ตอนนี้เราประกาศไปแล้ว 2 เขต คือ สมาร์ท พาร์ก กับการนิคมเหมราช วันที่ 1 จะขอท่านนายกฯ ประกาศอีกทั้งหมด 18 เขต เป็นนิคมอุตสหกรรมที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น มีพื้นที่เหลืออยู่ และมีพื้นที่ใหม่ที่จะใช้ประโยชน์ได้รวม 26,000 ไร่ เราไม่ต้องใช้พื้นที่ใหม่นะ เรียนตรงๆ ว่า มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เตรียมตัวไว้เรียบร้อยในพื้นที่นั้นอยู่แล้ว อันนี้ คือส่วนที่เราพยายามใช้คำว่า เอาของที่มีอยู่ ของคนไทยที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ อย่างที่ว่า มีนิคมอุตสาหกรรมจีน ขอมาแล้ว เรื่องการท่องเที่ยวไปแล้ว คาดว่า การท่องเที่ยวจะขยายเป็น 3 เท่า ของที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ผมกลับมาประเด็นที่อยากเรียนให้ทราบคือ 1. การทำอีอีซีเป็นการผสมผสานพลังจากภายในและภายนอกประเทศ อาจารย์สมคิดพูดถึงการเชื่อมโยงแล้ว ความจริงถ้าถามว่า เส้นรถไฟไทย-จีน ใครอยากได้ สำหรับผมแล้ว เมืองไทยอยากได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่เราจะเสียบปลั๊กเข้าเมืองจีนได้ หลังจากเสียบปลั๊กไปเมืองจีนได้ เมืองจีนขยาย เราขยายไปกับโลก แต่ถ้าไม่มีปลั๊กตัวนี้เสียบ เราขึ้นไม่ได้ อันที่ 2. การผสมผสานพลัง เหมือนกับ เรียนท่าน ที่มีคนบอกจะเอาคนต่างชาติมาลงทุนเยอะแยะ จะละเลยคนไทยหรือเปล่า เปล่า คนไทยระยะนี้มีกำลังเรื่องเงิน มีความสามารถอยู่ ร่วมมือกันกับต่างชาติดีๆ จะไปได้ ผมคิดว่า 50 - 50 วันนี้นะ อย่างที่พูดถึงนิคมอุตสหกรรมเราไม่ได้พูดถึงนิคมอุตสาหกรรมคนอื่น ต่างชาติมาตั้งไม่เกี่ยว เราใช้นิคมอุตสาหกรรมไทยเป็นหลักอย่างเดียว ผมเปรียบเทียบเหมือนกับฟุตบอลไทยลีก ตั้งแต่เราทำมา 3 - 4 ปี 5 ปี เราเอานักบอลต่างชาติเข้ามาเล่น ผลที่เกิดคือ บอลไทยดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีวันนั้น บอลไทยก็ไม่มีวันนี้ อีอีซี เช่นกัน การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือเอาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาเพื่อสอนให้เราเก่ง

วันนี้ เรายอมรับเทคโนโลยีหลายอย่างเราไม่เก่ง การลงทุนหลายเรื่องเราทำไม่เป็น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอากาศยานทั้งหมด เราทำไม่เป็น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ทำได้ครึ่งหนึ่ง หุ่นยนต์ที่เกี่ยวกับเมดิคัลฮับ การรักษาพยาบาลดี แต่ว่าอุตสาหกรรมที่เป็นเรื่องยาใหม่ การรักษาพยาบาลใหม่ก็ดี ทำไม่เป็น เรื่องแบบนี้ต้องผสมผสาน ต้องเป็นไทยลีก

อันที่ 2 อยากเรียนว่า ที่จริงแล้วเป็นการปรับฐานการทำงาน เพื่อจะเป็นฐานการลงทุน และฐานเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนไทยในอนาคต อีอีซี ไม่ได้ทำเพื่อวันนี้ อีอีซี ทำเพื่อวันข้างหน้า การลงทุนมีน้อย ต้องมีฐานการสะสมการลงทุน ต้องมีฐานส่งเสริมเทคโนโลยี อันนี้ อีอีซี และต้องทำงานนี้เพื่อเยาวชนไทยในอนาคต ที่ถามว่า เป็นเรื่องเทคโนโลยีกับคน บีโอไอ กับพวกเราตกลงกันว่า เวลาที่ให้การส่งเสริมการลงทุนต่อไป หรือที่ให้เหมือนปีที่แล้ว ต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับความสามารถคนไทย เป็นเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน ไม่ได้มาลงทุนเฉยๆ

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราพร้อมทำเรื่องนี้หรือเปล่า ผมเลยคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับอีอีซี สำหรับการลงทุนระยะหน้า ต้องมานั่งคุยกัน ตอนนี้ฝั่งนิคมอุตสาหกรรม ฝั่งนี้ พร้อมแล้ว พร้อมจะไป อุตสาหกรรมไทยเป็นเป็นอุตสหกรรมหลัก พร้อมแล้ว ปตท พร้อม เอสซีจี พร้อม บริษัทที่เป็นระดับใหญ่บ้าง กลางๆ บ้าง ยังไม่เกิด ยังไม่เห็น บริษัทไทยพวกนี้ต้องเข้ามา เดือนหน้าจะทำขบวนการนี้ เราคิดว่าต้องเข้ามาร่วมมือทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ผมคิดว่า หลัก 2 อันที่ใช้ในอีอีซี แต่ไม่ได้บอกให้นักลงทุนต่างชาติ หรือใครทราบ จะบอกครั้งแรกที่นี่ บอกว่า เบื้องหลังจริงๆ คือ เราจะใช้บริษัทไทย กับใช้เงินไทยให้มากที่สุด ดันเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าให้ได้ ใช้บริษัทไทยกับใช้เงินไทยให้มากที่สุด ท่านไม่ต้องแปลกใจ เวลาประมูลจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับใช้บริษัทไทย เหมือนที่เราทำ เราทำเรื่องนิคมอุตสาหกรรม ทำไมเราถึงใช้แต่เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว เพราะเราไม่ทำแข่ง ไม่รู้จะแข่งทำไม คนไทยด้วยกัน ประชารัฐคือสิ่งที่เราจะใช้ความร่วมมือทำงานด้วยกัน

ผมขอเรียนว่า อันหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอีอีซี คือ เราใช้อีอีซีเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และความคิดคนไทย อย่างที่เรียนให้ฟัง ท่านเห็นอีอีซี ท่านมองถึงไทยลีกเถอะ อย่าคิดว่า มีต่างชาติเข้ามาจะมาแย่งงานคนไทย คนไทยทำงานได้บางส่วน ต่างชาติทำได้บางส่วน ช่วยกันทำ กรณีเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ผังเมือง ทางกรมผังเมือง โยธาธิการผังเมืองบอกว่า ผมทำผังรวมพื้นที่ไม่เป็น เคยทำแต่ผังจังหวัด เราก็ถาม ทำไมทำผังจังหวัด เพราะว่าทำผังเมืองตามเขตการปกครอง มี 72 จังหวัด 73 จังหวัด ก็วางทุกจังหวัด แต่วาง จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยองเชื่อมกัน ไม่เป็น ไม่เคยทำ เพราะฉะนั้น เลยขอ ม.44 มาทำให้เป็น อันนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้มันดีขึ้น อีกหน่อยระบบนี้จะไปใช้ที่จังหวัดอื่นได้ ไปรวมผังเมืองที่อื่น สมมติว่า ขอนแก่น ต้องรวมอีก 5 จังหวัดข้างๆ ก็ไปวางผังเมืองที่นั่น

อันที่ 2 ทำเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน การลงทุนร่วมทุนกับภาครัฐ เอกชน เมื่อก่อนใช้เวลา 40 เดือน ภายใน อีอีซี ตอนนี้ทำเหลือ 8 เดือน กระทรวงการคลัง บอว่า หลังทำตรงนี้เสร็จ จะทำเปลี่ยน พ.ร.บ.ของกระทรวงการคลังอีก คือ ใช้ อีอีซี เป็นฐาน

สุดท้ายที่เราดูคือ เป็นปัญหาเยอะที่สุดคือ เรื่องคน คุณไม่เชื่อหรอกว่า ในประเทศไทยคนจบปริญญาตรี ทำงานต่ำระดับ หรือว่างงาน 31% คุณไม่เชื่อหรอกว่า ในพื้นที่ อีอีซี มีความต้องการเทคโนโลยี คือคนที่ทำจบอาชีวะ 50,000 คน วันนี้ขาด ขบวนการนี้ มันบิดเบือนไปเยอะไปนาน เราเลยใช้ขบวนการอีอีซี เข้าไปทำขบวนการหลายเรื่อง เช่น ไปทำเรื่อง ขบวนการที่เรียกว่า สัตหีบโมเดล ทาง BMW ยกตัวอย่างมี 15 บริษัท BMW ทำการคัดเลือกนักเรียนร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และเป็นหลายวิทยาลัยในอนาคต หลังจากเลือกนักเรียนด้วยกัน ก็ดีไซน์หลักสูตรด้วยกัน ตอนที่เรียน BMW จ่ายเงินค่าเรียนให้ และจ่ายค่าเงินเดือนให้ 4,000-5,000 บาท หลังทำเรียนปีนึง เขาก็ทำงานโรงงาน BMW ก็จ่ายให้อีก 300 บาทต่อวัน หลังจบแล้ว BMW รับหมดทุกคน โครงการนี้มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนขยายผลต่อ

เราเลยเอาโครงการนี้มาขยายผลต่อ จะเห็นว่า เอกชนกับภาครัฐทำงานร่วมกันได้ มันมีเรื่องหลายเรื่องเกิดขึ้นเป็นข้อบกพร่องในระบบที่เป็นอยู่ อีอีซี ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นคนย่อยระบบพวกนี้ และสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อจะให้พื้นที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย เป็นจุดการทำงาน เอาไปใช้งานได้ จบตรงนี้ ตรงที่ พ.ร.บ.วันนี้ เดี๋ยวบ่ายโมง จะมีการเขียน พ.ร.บ.ต่อ ขอท่านนายกฯไว้ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการว่า ต้องเป็น พ.ร.บ. สาเหตุที่ต้องเป็น พ.ร.บ. เพราะอีสเทิร์นซีบอร์ดมันหายไป ถ้ามี พ.ร.บ.มันอาจอยู่ต่อ แต่เงื่อนไขการอยู่ต่อไม่ใช่เฉพาะ พ.ร.บ. ต้องเป็นสิ่งที่พวกท่านและคนในพื้นที่ต้องการ ถึงจะอยู่ได้ ผมบอกได้เลยว่า สิ่งที่จะอยู่ได้ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนตั้ง มันก็อยู่ได้ เช่น 30 บาท กองทุนหมู่บ้าน อีอีซี เช่นเดียวกัน เมื่อมีกฎหมายแล้ว ผมขอให้ท่านทั้งหลายช่วยซัพพอร์ต อีอีซี ในฐานะที่จะเป็นศูนย์รวมการสร้างการลงทุน ศูนย์รวมการสะสมเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนไทยในอนาคต

ขอบคุณมากครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น