xs
xsm
sm
md
lg

บีเอ็มฯ ติดใจลงทุนอีอีซี เล็งผลิตแบตรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มร.สเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย
ประธานบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย เผย เลือกลงทุนพื้นที่อีอีซี เพราะโครงสร้างพื้นฐานและระบบซัปพลายเชนเข้มแข็ง ปีทีผ่านมา ผลิตรถในไทยถึง 9 รุ่น รวมรถปลั๊กอินไฮบริด เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก เผย รถไฟฟ้าตลาดในไทยตอบรับดี มีแผนผลิตแบตเตอรีในประเทศไทย



วันนี้ (29 ม.ค.) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ มร.สเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้กล่าวบรรยายหัวข้อ “EEC อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต” ในงานสัมมนา “EEC ไม่มีไม่ได้” ในโอกาสครบรอบ 35 ปี “ผู้จัดการ” ว่า บีเอ็มดับเบิลยูมีฐานการผลิตอยู่ทั่วโลก แน่นอนรวมถึงอาเซียนและในประเทศไทยด้วย ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูก็ได้เลือกประเทศไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และเริ่มผลิตรถยนต์ที่โรงงานที่ระยองเมื่อปี 2000 ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจในช่วงนั้น เป็นเพราะว่าประเทศไทยนั้น มีโครงสร้างพื้นฐาน และ Supply Chain ที่เข้มแข็ง รวมถึงศักยภาพของคนไทยที่จะมาทำงานร่วมกัน ทั้งระดับปริญญา ที่สำคัญก็คือ ระดับอาชีวศึกษา ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูก็ได้ทำงานกับภาครัฐของไทยมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

บีเอ็มดับเบิลยูได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีทั้งสำนักงานขาย มีโรงงานผลิตของตัวเอง และลงทุนเองทั้งหมดไม่ได้เป็น Joint Venture เหมือนกับในประเทศมาเลเซีย ในประเทศไทยเราลงทุนทั้งหมด ซึ่งก็อยู่ในระยอง และในเขต EEC ด้วย

โดยปีที่ผ่านมา บีเอ็มดับเบิลยู ก็ได้ผลิตรถยนต์ถึง 9 รุ่น และมีมอเตอร์ไซค์ หรือ Motorrad 8 รุ่นในประเทศไทย ซึ่งรถยนต์ 4 รุ่นเป็นแบบปลั๊กอิน ไฮบริด ซึ่งเป็นทั้งฐานการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออกด้วย

สำหรับรถยนต์ก็จะมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน การผลิตรถยนต์ก็เพื่อใช้ในประเทศไทย และส่งออกด้วย ส่วนมอเตอร์ไซค์ หรือ Motorrad สัดส่วนการส่งออกและจำหน่ายในประเทศก็ครึ่งๆ เลยทีเดียว

สำหรับถ้ามองถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตแล้ว แน่นอนทุกคนต้องนึกถึงรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูก็ได้พัฒนาให้รถยนต์ยังมีแบบเทคโนโลยีเก่า คือ แบบสันดาปอยู่ และมีแบบเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งได้เดินหน้าไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ ที่เรียกว่าแบตเตอรีอีวี หรือที่เรียกว่า BEV นั่นเอง รวมไปถึงเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย ช่วงเปลี่ยนผ่านก็จะเป็นรถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ

และเมื่อใดถ้ารถไฟฟ้าถึงจะมานั้น คำถามนี้หลายท่านก็ถามมาก หลายท่านมองว่าน่าจะเป็นปี 2030 บางคนก็มองว่า อาจจะเป็นปี 2040 ไกลไปกว่านั้น และบางคนก็มองว่าจะเกิดขึ้นใกล้ๆ นี้ด้วยซ้ำก็คือปี 2025 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย

ซึ่งข้อดีของรถในอนาคตนั้น ก็คือ เรื่องของ ค่า CO2 คือ การปล่อยมลพิษนั้น ต้องบอกว่าจะลดลงเรื่อยๆ เหตุผลสำคัญ คือ เพื่อการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยบีเอ็มดับเบิลยูก็ต้องบอกว่ามีแผนที่จะผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบบ BEV และแบบ PHEV คือ ทั้งแบบแบตเตอรีอีวี และแบบปลั๊กอินไฮบริดด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งหมด 25 รุ่นในปี 2025 อีกด้วย

แนวโน้มทั้งหมดของรถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วมาก ซึ่งในปี 2013 บีเอ็มดับเบิลยูสามารถจำหน่ายรถยนต์ในกลุ่มของรถยนต์ไฟฟ้าได้ตั้ง 1 แสนคัน เลยทีเดียว ในปี 2017 ทั้งปียอดขายก็ 1 แสนคัน ยอดขายเติบโตอย่างรวดเร็วมาก และตลาดที่ตอบรับเทคโนโลยีนี้ได้รวดเร็วมากที่สุดในอาเซียนมี 2 ประเทศหลักๆ คือ 1. มาเลเซีย และ 2. ประเทศไทย ซึ่งถือว่าเรารับกับตลาดนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนถ้าดูที่อื่นๆ ในโลกก็มีประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งเทคโนโลยีที่กำลังมาในอนาคต 4 แนวโน้มหลักๆ คือ รถอัตโนมัติ อาจจะถึงขั้นไร้คนขับเลย และอีกแนวโน้มรถยนต์แบบเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับดิจิตัล อีกแนวโน้มคือรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และอีกแนวโน้ม คือ การแบ่งปันกันใช้รถยนต์

หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูก็มีแผนการที่จะผลิตแบตเตอรีในประเทศไทยแต่ชิ้นส่วนหลักที่ไทยยังผลิตไม่ได้ตอนนี้คือเซลล์เเบตเตอรีนั่นเอง

ในส่วนของสถานีชาร์จไฟนั้น บีเอ็มดับเบิลยูก็ได้มีการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการติดตั้งสถานีชาร์จกว่า 100 สถานีในปีนี้ ภายใต้ชื่อโครงการ CHARGE NOW! ซึ่งก็สามารถใช้ชาร์จได้กับรถยนต์ทุกๆ ค่ายอีกด้วย รวมถึงอนาคตทางบีเอ็มดับเบิลยูก็จะร่วมในการผลิตเรือไฟฟ้าไร้มลพิษ โดยการใช้เทคโนโลยีของทางบีเอ็มดับเบิลยูเองด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น