“อุตตม” แย้มข่าวดีการลงทุนปี 2561 สดใสแน่ หลังโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีพร้อมเดินตามแผนร่าง พ.ร.บ. จ่อคลอดลงทุนยื่นขอรับปี 2560 เกินเป้า เตรียมเสนอนายกฯ 1 ก.พ. ปรับเป้าหมายการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีจาก 5 ปี (ปี 60-64) 5 แสนล้านบาท เป็นไม่น้อยกว่า 6 แสนล้าน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าวันที่ 1 ก.พ.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการทบทวนเป้าหมายเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่เดิมกำหนดไว้ 5 ปี (ปี 2560-2564) ที่กำหนดไว้ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีทิศทางจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
“รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ปรับเป้าเพิ่มขึ้นใหม่ เพราะขณะนี้การลงทุนในอีอีซีเฉพาะปี 2560 พบว่า มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่เราตั้งเป้าเฉลี่ย 5 ปี จะลงทุนปีละแสนล้านบาท ดังนั้น วันที่ 17 ม.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซี ซึ่งผมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอบอร์ดอีอีซีชุดใหญ่ โดยเบื้องต้นมีโอกาสสูงที่จะมองไปสู่กว่า 6 แสนล้านบาท เพราะปีนี้เราจะเห็นภาพชัดทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ที่คิดว่าจะเสร็จใน ก.พ.นี้” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับการติดตามความคืบหน้าครั้งนี้ พบว่าทุกอย่างยังเดินตามเป้าหมายโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 5 โครงการที่กำหนดกรอบเวลาทำงานชัดเจน ได้แก่ (1. โครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเสนอโครงการประกวดราคา (TOR) จะเสร็จและประกาศให้เอกชนที่สนใจยื่นได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทีโออาร์ จะประกาศทีโออาร์ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ (3. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ประกาศทีโออาร์ ในเดือนมีนาคม 2561 (4. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จะประกาศทีโออาร์ เดือนมิถุนายนปีนี้ (5. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ประกาศทีโออาร์ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ คัดเลือกเอกชนได้ในเดือนพฤศจิกายน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอีอีซี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารวันที่ 17 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณาอนุมัตินิคมอุตสาหกรรมรวม 18 แห่ง เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมรองรับการลงทุนในอีอีซี รวมพื้นที่กว่า 2.6 หมื่นไร่ ที่จะรองรับการลงทุนในอนาคตได้เป็นอย่างดี และในจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะมีนิคมฯที่จะรองรับการลงทุนที่เน้นภาษาจีน โดยเฉพาะซึ่งอยู่ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พื้นที่ 3,000 ไร่
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เพื่อเป็นหลักประกันสำคัญของการเดินหน้าโครงการอีอีซี โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะพร้อมรองรับ โดยการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่สัตหีบ หลังพัฒนาเฟส 3 จะเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากที่ปัจจุบันรองรับได้ไม่เกิน 3 ล้านคน จะเพิ่มเป็นรองรับได้ในระดับ 30 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ด้านการเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยาน จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 รองรับตู้สินค้าได้ 12-15 ล้านบีทียู จะทำให้กลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 ของเอเชียอาคเนย์ มีขนาดรองรับตู้ขนส่งสินค้าในขนาดที่เท่ากับท่าเรือในประเทศสิงคโปร์ และท่าเรือของประเทศมาเลเซีย เป็นประกันผู้ลงทุนในอีอีซีว่าจะมีการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อด้วยระบบรถ ราง เรือ เชื่อมต่อทั้งหมด