รัฐบาลเตรียมออกระเบียบ PPP EEC Track หวังร่นระยะเวลาอนุมัติโครงการการลงทุน 5 โครงการในเขต EEC มูลค่า 6 แสนล้าน ให้เหลือเพียง 8-10 เดือน คาดเริ่มเปิด TOR ได้ในไตรมาสแรกปี 61 ด้าน ผอ.สคร. ย้ำระเบียบใหม่ยังยึดมั่นเรื่องความโปร่งใส-เปิดเผยข้อมูล ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการ EEC เผย การประมูลโครงการทั้ง 5 จะต้องเสร็จสิ้นภายในปี 61 ระบุนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นเตรียมเข้าประชุมกับไทยใน ม.ค. 61
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) กล่าวถึง แผนการผลักดันโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า รัฐบาลต้องการที่จะผลักดันโครงการ EEC ให้เกิดขึ้นได้ในปี 61 ก่อนจะมีเงินลงทุนเข้ามาในปี 62 ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดเงื่อนไขระเบียบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามโครงการ PPP EEC Track เพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและทำให้การคัดเลือกเอกชนและการลงนามในสัญญาดำเนินการเร็วขึ้น
โดยโครงการ PPP EEC Track คาดว่าจะใช้เวลาการพิจารณาและอนุมัติการร่วมทุนเพียง 8-10 เดือน ซึ่งจะเร็วกว่าการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งต้องใช้เวลา นานดำเนินการนานถึง 40 เดือน
“ระเบียบใหม่ที่รัฐบาลจะประกาศใช้ เพื่อผลักดันการลงทุนในโครงการ EEC เดินหน้าได้เร็วขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการกู้เงินหรือการนำงบประมาณของภาครัฐมาลงทุนได้อย่างมาก ในเบื้องต้นรัฐบาลกำหนดจำนวนโครงการลงทุนไว้ 5 โครงการ โดยคาดหมายว่าหากการลงทุนในโครงการทั้ง 5 ประสบผลสำเร็จแล้วจะช่วยลดต้นทุนด้านขนส่งโลจิสติกส์ลงได้ 1-2% เทียบสัดส่วนต้นทุนต่อมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ 14%”
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวย้ำว่า การกำหนดระเบียบ PPP EEC Track จะยังอยู่ในกรอบกฎหมาย PPP และยังเน้นถึงความโปร่งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ อีกทั้งยังจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนก่อนที่จะส่งสัญญาทั้งหมดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอีกครั้ง โดยระหว่างการพิจารณายังจะให้เอกชนร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมด้วย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการทั้ง 5 โครงการสำคัญในพื้นที่ EEC ซึ่งรัฐบาลเร่งผลักดันการใช้ระเบียบ PPP EEC Track นั้นจะมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท โดยการประมูลโครงการจะต้องเสร็จสิ้นภายในในปี 61
สำหรับ แผนลงทุนเขต EEC ทั้ง 5 โครงการนั้นจะประกอบด้วย 1. สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะกำหนดร่างขอบเขตงาน ( TOR ) ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2561, โครงการที่ 2 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา กำหนด TOR เดือนกุมภาพันธ์ 2561, โครงการที่ 3 รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิด TOR เดือนกุมภาพันธ์ 2561, โครงการที่ 4 ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เปิด TOR เดือนมิถุนายน 2561, และโครงการที่ 5 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งจะเปิดTOR ภายในเดือนมิ.ย. 2561 ซึ่งทั้ง 5 โครงการไม่ใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐ เนื่องจากมีจำกัด แต่จะใช้รูปแบบ PPP และทุกโครงการจะใช้วิธีการประมูลโดยไม่มีวิธีพิเศษ
นอกจากนี้ นายคณิต ยังกล่าวด้วยว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจในแผนการลงทุนในเขต EEC ของรัฐบาลไทย โดยในต้นเดือน ม.ค. 61 นักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นจะเข้าร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าวกับฝ่ายไทย ขณะที่นักลงทุนจากอังกฤษได้สอบถามเรื่องแผนการลงทุนพัฒนาท่าเรือในพื้นที่ EEC อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการ EEC ยังต้องรับฟังเสียงเพื่อหาความต้องการของนักลงทุนและการกำหนดเงื่อนไขที่จะทำให้โครงการลงทุนสามารถเดินหน้าไปได้
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระเบียบ PPP EEC Track จะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของสัญญาร่วมทุน วิธีการคัดเลือกเอกชนภายใน 30 วันหลังการลงนาม ขณะที่ผลการดำเนินโครงการในส่วนที่ไม่เป็นความลับทางการค้าของเอกชนจะเปิดเผยอย่างน้อย 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยในขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติทั้งญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความสนใจที่เข้ามาลงทุนใน EEC ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้ขอใช้สิทธิตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากไทยไปแล้ว 100,000 ล้านบาท
"นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเขต EEC ค่อนข้างมาก และปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นก็ได้ลงทุนในเขตนี้เป็นจำนวนมากแล้ว ขณะที่จีนก็ให้ความสนใจการลงทุนในเขตนี้เช่นกันโดยมองว่า EEC เป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับแผน One Belt One Road ของรัฐบาลจีน รวมทั้ง เมื่อสหรัฐและยุโรป ได้เปิดความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับไทยแล้วก็จะทำให้นักลงทุนจากทั้งฝั่งสหรัฐและยุโรปสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้" นายกอบศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกอบศักดิ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์การร่วมลงทุนแบบ PPP ในเขต EEC ที่เคยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมาว่า จะเป็นการทำโครงการ PPP ภายใต้ขั้นตอนของกฎหมาย PPP ที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่การดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายจะเป็นการทำไปพร้อมๆ กันโดยไม่จำเป็นต้องรอขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งแล้วเสร็จก่อน