xs
xsm
sm
md
lg

สกรศ.เปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวชลบุรี ดันเป็น Modern of the East

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สกรศ.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวชลบุรีต่อร่างแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี วางเป้า จ.ชลบุรีสู่ Modern of the East วางเป้าหมายท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซีปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 46.72 ล้านคน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้โครงการจัดทำแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งจัดโดยสำนักงานอีอีซี (สกรศ.) ที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี วันนี้ (27 ก.พ.) ว่า เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชาวจังหวัดชลบุรีเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนดังกล่าวที่มีแนวทางจะพัฒนาพื้นที่ จ.ชลบุรีเป็น Modern of the East ที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สุขภาพและนันทนาการ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม S-Curve ด้านสุขภาพและการแพทย์ เป็นศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย

“ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ทันสมัย จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การพัฒนาจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC (ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี) จาก 29.89 ล้านคน เป็น 46.72 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 285,572 ล้านบาท เป็น 508,590 ล้านบาทในปี 2564 โดยมีระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดและระหว่าง 3 จังหวัด มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับ” นายกลินท์กล่าว

นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการ สกรศ. กล่าวว่า แผนการพัฒนาฯ จะให้ความสำคัญ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมให้เกิดเทรนด์ท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ (Man-made Attractions) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาไปที่สนามบินอู่ตะเภาเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่กับการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวิถีชีวิตชุมชน การจัดพื้นที่ (Zoning) เพื่อการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ EEC เป็นต้น

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองท่องเที่ยวรอง ด้วยการสนับสนุนการลงทุนพัฒนาคมนาคมและลอจิสติกส์ภายใต้แผนงาน EEC เช่น ระบบขนส่งจากสนามบินอู่ตะเภาสู่เมืองหลัก พัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Cruise) และส่งเสริมการขยายเส้นทางเรือและเรือสำราญ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟรางเบา (Tram) ภายในพัทยา เป็นต้น

3. การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และครอบคลุมทุกสาขาการท่องเที่ยว โดยใช้ “สัตหีบโมเดล” ในการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากร และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว

4. การสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพเเละความปลอดภัยให้กับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เช่น โครงการพัฒนาเสริมสร้างระบบการรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดระยอง โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) พร้อมอุปกรณ์บริเวณชายหาด เป็นต้น ส่วนการลงทุนนั้น ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณจาก PPP เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รองลงมาจึงจะเป็นงบประมาณในส่วนของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจตามลำดับ

“ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซีในครั้งนี้ คณะทำงานจะจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนการพัฒนาฯ ในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยองต่อไป เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้สอดรับความต้องการของคนในพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ตลอดจนก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของโลกในอนาคต” น.ส.พจนีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น