xs
xsm
sm
md
lg

สกรศ.จัดเวทีฟังความเห็นคนชลบุรี เสริมแกร่งท่องเที่ยวภาคตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา -สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จัดเวทีฟังความเห็นชาวชลบุรี เสริมแกร่งท่องเที่ยวภาคตะวันออก ตั้งเป้าดึงการลงทุนพัฒนาการท่องเที่ยวดัน 4 โปรเจกต์พัทยา Tram, Crurise Ter minal, Balihai Pier และ Pattaya on Pier ตั้งเป้าปี 62 สรุปแผนร่าง TOR ก่อนเปิดโอกาสนักลงทุนใช้ระบบ PPP คาดการณ์นักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 46 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 5 แสนล้านในปี 64

วันนี้ (27 ก.พ) นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนา และประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้โครงการจัดทำแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2560-2564 ที่ห้องสัมมนานันทา เอบี สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา ประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชนจากจังหวัดชลบุรี เข้าร่วม

ภายในงานได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับความคืบหน้า และทิศทางการเกี่ยวโครงการแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมการเสวนาจากหลายภาคส่วน และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม

นายกลินท์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาที่สำคัญมี 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมให้เกิดเทรนด์ท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ (Man-made Attrac tions) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาไปที่สนามบินอู่ตะเภา เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่กับการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวิถีชีวิตชุมชน การจัดพื้นที่ (Zoning) เพื่อการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ EEC เป็นต้น 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองท่องเที่ยวรอง ด้วยการสนับสนุนการลงทุนพัฒนาคมนาคม และลอจิสติกส์ภายใต้แผนงาน EEC เช่น ระบบขนส่งจากสนามบินอู่ตะเภาสู่เมืองหลัก พัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Cruise) และส่งเสริมการขยายเส้นทางเรือและเรือสำราญ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟรางเบา (Tram) เป็นต้น

3.การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องต่อมาตรฐานสากล และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และครอบคลุมทุกสาขาการท่อง เที่ยว โดยใช้ “สัตหีบโมเดล” ในการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากร และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว 4.การสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพ และความปลอดภัยให้แก่พื้นที่ EEC โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เช่น โครงการพัฒนาระบบการรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดระยอง โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) พร้อมอุปกรณ์บริเวณชายหาด เป็นต้น

โดยมีเป้าหมายของแผนภายในปี พ.ศ.2564 ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้น จาก 29.89 ล้านคน เป็น 46.72 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จาก 285,572 ล้านบาท เป็น 508,590 ล้านบาท มีระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดและระหว่าง 3 จังหวัด มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดเพิ่มขึ้น เช่น ห้องน้ำ ป้ายบอกทาง เส้นทางจักรยาน Application ทางการท่องเที่ยว มีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในแหล่งท่องเที่ยวอย่างน้อย 200 จุด ครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และเขตเทศบาล และมีสถาบันและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่ จ.ชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ทันสมัย จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็น Modern of the East เมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สุขภาพและนันทนาการ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ เป็นศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย

หลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในครั้งนี้ คณะทำงานจะจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน การพัฒนาในหมวดอื่นๆ ต่อไป เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงแผนให้สอดรับความต้องการของคนในพื้นที่ และยกระดับคุณภาพคุณภาพชีวิตของชุมชน ตลอดจนก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของโลกในอนาคต

นายกลินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเมืองพัทยาถือเป็นเมืองท่องเที่ยวเป้าหมายที่มีศักยภาพ ซึ่งทาง สกรศ.ได้เสนอแผนการพัฒนา และเสริมความแกร่งด้านการท่องเที่ยวไว้ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การจัดทำระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในเมือง 2.การจัดทำ Cruise Terminal หรือท่าเทียบเรือขนาดใหญ่มาตรฐานต่อยื่นออกไปตรงปลายแหลมบาลีฮายระยะ 1.5 กม.เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่แทนท่าเรือแหลมฉบัง 3.การจัดสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติม หรือ Balihai Pier เพื่อปรับปรุงและรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในอนาคต และ 4.Pattaya on Pier บริเวณริมทะเลหลังโครงการ 101 รายพัทยาใต้ เพื่อเป็นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งมีแนวคิดมาจากการพัฒนาท่าเรือเก่าที่เมืองซาน ฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เป็น Land Mark ใหม่ด้านการท่องเที่ยว

สำหรับการพัฒนาในพื้นที่เมืองพัทยานั้น หากดำเนินการได้ตามแผนก็จะทำให้เมืองพัทยามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้หลายโครงการอาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างเก่าๆเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต่องอธิบาย และสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าจะเกิดประโยชน์อะไรต่อภาพรวมในอนาคต ขณะที่แผน Master Plan ในโครงการเหล่านี้คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้ และจะสามารถทำ TOR เพื่อกำหนดขอบข่ายการทำงานที่ชัดเจน ก่อนเปิดให้เอกชนเข้าลงทุนในลักษณะงบประมาณจาก PPP เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รองลงมาจึงจะเป็นงบประมาณในส่วนของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจตามลำดับ




กำลังโหลดความคิดเห็น