“ศักดิ์สยาม” พร้อมเร่งลงทุนโครงการใหญ่ทันทีหลังร่าง พ.ร.บ.งบปี 63 ผ่าน ลุ้น ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมสัญญาโยธาและเดินรถ เผยสำนักงบฯ เตรียมชงความเห็นวิธีเซฟค่าดอกเบี้ยงานโยธา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมในการลงทุนโครงการต่างๆ ทันทีเมื่อได้รับงบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งล่าสุดจากการประชุมร่วมกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นกระตุ้นการลงทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งได้มีการเสนอไปยังเลขานุการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หาก ครม.อนุมัติกระทรวงคมนาคมพร้อมเดินหน้าโครงการทันที
ส่วนกรณีที่กังวลว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 อาจเป็นโมฆะนั้น เบื้องต้นทางสำนักงบประมาณมีแผนเพื่อรองรับอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายประจำไม่มีปัญหา ส่วนงบลงทุนในโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมมีหลายส่วน เช่น ส่วนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้เอง ส่วนงบลงทุนที่เป็นงบประมาณจะต้องรอความชัดเจนต่อไป โดยยืนยันว่าเมื่อได้รับงบประมาณจะดำเนินการทุกโครงการอย่างเต็มความสามารถ
ด้านนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.ได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และการบริหารการเดินรถสายสีส้ม ด้านตะวันตก-ตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยหลัง ครม.อนุมัติจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เพื่อพิจารณาและเห็นชอบร่างเชิญชวนเอกชน (TOR) คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ภายในปี 2563 โดยจะเร่งรัดการติดตั้งระบบในส่วนตะวันออกเพื่อเปิดให้บริการได้ในปี 2567
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตกใช้รูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. และติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ตลอดเส้นทางด้านตะวันออก และตะวันตก ระยะทาง 35.9 กม. ระยะเวลาการก่อสร้าง 6 ปี โดยงานโยธามีมูลค่า 96,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 32,000 ล้านบาท ส่วนการดำเนินงานรถไฟฟ้า ซ่อมบำรุง และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์มีระยะเวลา 30 ปี
ส่วนการเสนอ ครม.ขออนุมัติโครงการนั้น ทราบว่าทางสำนักงบประมาณจะทำความเห็นในเรื่องการบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยเสนอ เลขาฯ ครม.โดยตรงเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ซึ่งจะมีการใช้วิธีการบริหารอัตราดอกเบี้ยให้ประหยัดมากที่สุด
เนื่องจากค่างานโยธาจำนวน 9.6 หมื่นล้านจะมีดอกเบี้ย 2 ส่วน คือ 1. ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งดอกเบี้ยจะทยอยเกิดตามมูลค่างานที่คู่สัญญาทยอยเบิกจ่าย จะสอดคล้องกับความคืบหน้าการก่อสร้าง โดยจะเกิดดอกเบี้ยจนเบิกค่างานครบ 9.6 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังจะใช้วิธีกู้ระยะสั้นสำหรับจ่ายค่างานก่อสร้า เพื่อให้มีความยืดหยุ่น เนื่องจากในการก่อสร้างจริงในช่วงแรกการก่อสร้างจะช้า การเบิกจ่ายค่างานจะยังไม่มาก ขณะที่ช่วงกลางงานก่อสร้างจะทำได้ การเบิกค่างวดงานจะสูงไปด้วย และการก่อสร้างจะกลับมาช้าอีกครั้งในช่วงท้ายๆ ที่งานใกล้จะแล้วเสร็จ 2. หลังก่อสร้างเสร็จ จะเป็นดอกเบี้ยที่จ่าย ช่วงระหว่างการผ่อนชำระ มีระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเงินต้นจะทยอยลดลงไปเรื่อยๆ