xs
xsm
sm
md
lg

‘สมคิด’ยันมีแผนรับมืองบ'63สะดุด-สั่งกรุงไทยอุ้มSME-แก้หนี้ขรก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - "สมคิด" ยันมีแผนสำรองแก้ปัญหางบปี 63 สะดุด รอเพียงเสนอให้นายกฯ พิจารณา ขณะที่คลังเร่งศึกษาหาทางออก ทั้งพรก.เงินกู้ และแผนอื่น เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด "อุตตม" รับกระทบแผนลงทุน แต่เงินเดือนขรก. ยังจ่ายได้ปกติ พร้อมกำชับให้แบงก์กรุงไทยช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และร่วมหารือแบงก์รัฐแก้หนี้ข้าราชการ ด้านก.ล.ต. เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัประดิมทุน คาดประกาศเกณฑ์ได้ไตรมาสแรกนี้

วานนี้ (22 ม.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถึงกรณีกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 อาจล่าช้า จากปัญหาส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ว่า รัฐบาลมีแผนสำรองเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว และไม่อยากให้ทุกคนมองในแง่ที่มีปัญหา เพราะเรื่องนี้รัฐบาลดูอยู่ ฉะนั้นไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต้องนึกถึงส่วนรวมก่อน และก็พยายามแก้ไขกันอยู่ ซึ่งหวังว่าจะสามารถใช้งบได้เร็วที่สุด ส่วนแผนสำรองจะเป็นอย่างไรยังไม่สามารถบอกในรายละเอียดได้ในตอนนี้

ทั้งนี้ ปกติการใช้งบประมาณปี 63 ก็ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นหากต้องมีปัญหาทำให้เกิดการล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่คาดการณ์จะเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนได้ภายในเดือนก.พ.ปีนี้อีก ก็จะกระทบต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณบ้าง อย่างไรก็ดี แม้การใช้งบประมาณจะล่าช้า แต่รัฐบาลก็พยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ออกมาได้มากที่สุด และกระทรวงการคลังกำลังหาแนวทางในการจูงใจให้เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยได้ระดับหนึ่งเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณศึกษาแนวทางเลือกที่เหมาะสม ส่วนแนวทางการออกเป็นพระราชกำหนด (พรก.) กู้เงิน ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่กระทวงการคลังนำมาพิจารณา ร่วมกับแนวทางอื่นทั้งหมด เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด แต่ยังบอกไม่ได้ว่าแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไรบ้าง เพราะจะต้องรอให้กระบวนการพิจารณาเรื่องงบประมาณดังกล่าวให้สิ้นสุดเสียก่อน และหากได้ข้อสรุปจะเสนอแนวทางให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวได้กระทบต่อเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐ ให้ลงสู่ระบบล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะเดิมในเดือนก.พ.ที่จะต้องมีเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบในช่วงแรกอย่างน้อย 1 แสนล้านบาทแล้ว อีกทั้งจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมตามไปด้วย แต่ยืนยันปัญหาที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการจ่ายเงินเดือนข้าราชการอย่างแน่นอน

ส่วนการตรวจเยี่ยมธนาคารกรุงไทย ครั้งนี้ นายสมคิด กล่าวว่า ได้ฝากให้ธนาคารกรุงไทยดูแลใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสภาวะที่เศรษฐกิจตึงตัว และโดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่แน่ใจในพรบ.งบประมาณว่าจะมีความล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็ได้หารือร่วมกับรัฐวิสาหกิจในการเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณเงินไหลเวียนในระบบในภาวะที่งบประมาณมีปัญหา

เรื่องที่สอง ให้ช่วยลดภาระหนี้ของข้าราชการ โดยร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสินในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับข้าราชการ ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำในระยะยาว แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB)กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ธนาคารดูแลให้เอสเอ็มอีและประชาชนมีช่องหายใจในสภาวะที่เงินในระบบตึงตัวก็คงเป็นลักษณะของการประคองกันไปโดยดูวิกฤติในปี 1997 เป็นตัวอย่าง ซึ่งธนาคารก็มองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมกันนั้น ในฐานะที่ธนาคารของรัฐที่มี Data ของประชาชนอยู่กว่า 30 ล้านคน ก็จะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อนำพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนเข้าสู่ระบบ Digital อย่างเต็มรูปแบบโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ก.ล.ต.คาดประกาศเกณฑ์ SMEs-สตาร์ทอัพระดมทุนใน Q1/63 ส่วนตลาดรองรอความชัดเจนจาก ตลท.

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ครั้งที่ 1/63 มีมติกำหนดแนวทางการกำกับดูแลเปิดให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ทอัพ สามารถเข้าระดมทุนผ่านเครื่องมือในตลาดทุน โดยในส่วนการระดมทุนตลาดแรก ก.ล.ต.คาดจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการก่อนจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ส่วนแนวทางการจัดตั้งตลาดรองในการซื้อขายหลักทรัพย์ของ SMEs และสตาร์ทอัพ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนข้อสรุปจากทางตลาดหลักทรัพย์แห่งงประเทศไทย (ตลท.)

สำหรับหลักเกณฑ์กำกับดูแลในตลาดแรก เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ได้กำหนดให้บริษัทไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ ช่วยให้มีความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงาน ผ่อนปรนการเปิดเผยข้อมูลงบการเงิน และไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)


กำลังโหลดความคิดเห็น