“คมนาคม”ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ “ถาวร” ห่วงเวนคืนอืดกระทบก่อสร้าง ย้ำต้องประสานทุกหน่วยช่วย
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงคมนาคม ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2562 มอบให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนเป้าหมายระดับแผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล ซึ่งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงฯ ตามแนวทางของแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงฯ ได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่และบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายระดับแผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายถาวรกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางบก ส่วนทางราง ทางน้ำ เป็นระบบที่มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสตูล สำหรับประมง และท่องเที่ยว ส่วนทางอากาศ มีแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงโลก เชื่อมไทยไปสู่เมืองรอง
ขณะนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ช่วง 5 ปีแรก โดยการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ จะเริ่มต้นจากการศึกษาความเป็นไปได้ ดูความคุ้มทุน ความคุ้มค่า ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการพัฒนาโครงการ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสุขภาพ (EHIA) ต่อไป เป็นการจัดหาเงินลงทุน ทั้งการร่วมลงทุนกับเอกชน หรืองบประมาณ จากนั้นจึงเป็นการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) รวมถึงคณะกรรมการ PPP
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการได้รับอนุมัติ และจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ยังมีประเด็นที่ทำให้โครงการมีความล่าช้า ได้แก่ การเวนคืน ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งประชาชนผู้ถูกเวนคืนสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หากยังไม่พอใจค่าชดเชย เช่น มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นในการกำหนดปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ (KSFs) และพัฒนาโครงการ มาตรการสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมโลจิสติกส์ในแต่ละเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มภารกิจ คือ กลุ่มการขนส่งสินค้า (ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางราง) และกลุ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมโลจิสติกส์ และกำหนดปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ Key Success Factors (KSFs) ของเป้าหมายแผนย่อย ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายในระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2565)
ในการกำหนด Key Success Factors (KSFs) และพัฒนาโครงการ/มาตรการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายแผนย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ในแต่ละเป้าหมาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 : การขนส่งสินค้า (ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางราง) โดย KSFs ควรมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ มีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำ และส่งเสริมการสร้างและการใช้นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะ SME ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการภาคคมนาคมขนส่ง รวมทั้งควรเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ณ ประตูการค้าหลักด่านชายแดน (NSW e-Port e-Gate) ให้สำเร็จ และสนับสนุนให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องและหลายรูปแบบ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้หรือเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทั้งระบบ
กลุ่มที่ 2 : การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารระในเขตเมือง โดย KSFs มีเป้าหมายด้าน Demand Management เช่น การจำกัดจำนวนรถส่วนบุคคล ซึ่งคล้ายกับนโยบายของประเทศเกาหลีใต้ที่จัดเก็บค่าจอดรถส่วนบุคคลในเมือง และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับการเดินทาง ระบบรถไฟฟ้า ระบบรถโดยสารและสิ่งอำนวยความสะดวกประกอบ ระบบการจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวก First Mile, Last Mile พัฒนา Park and Ride รวมทั้งการพัฒนา Application ระบบนำทาง ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลการเดินทาง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดเก็บข้อมูล รูปแบบการขนส่ง เวลาให้บริการ ค่าโดยสาร ระยะเวลาในการเดินทาง และส่งเสริมให้มีระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ