“คมนาคม” ชง ครม.ศก. เคาะ 41 โครงการร่วมลงทุน PPP วงเงินกว่า 7.49 แสนล้าน “ศักดิ์สยาม” ลั่นพร้อมลุยประมูล สั่งทุกหน่วยปรับแผนเร่งเบิกจ่ายงบปี 63 เป้าต้อง 100% นัดส่งการบ้าน 10 มี.ค. ส่วนทอท.-ทย.เร่งถกมาตรการเยียวยาสายการบินช่วงกระทบไวรัสโควิด-19
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่า ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแผนการลงทุน 41 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนในรูปแบบ PPP และลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) วงเงินลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 749,206.61 ล้านบาท เพื่อเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจในสัปดาห์นี้
สำหรับแผนการลงทุน 41 โครงการ ครอบคลุมทั้งโครงการทางบก น้ำ ราง อากาศ โดยอยู่ระหว่างเร่งสรุปวงเงินลงทุนให้ครบถ้วนเนื่องจากมีบางโครงการที่วงเงินลงทุนยังไม่ชัดเจน และประเมินตัวเลขผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) โดยมี 14 โครงการที่ยังระบุวงเงินลงทุนไม่ได้ เนื่องจากเพิ่งเริ่มศึกษา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ส่งข้อมูลรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม.ศก.เห็นชอบ โครงการที่มีความพร้อมจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป
สำหรับ 41 โครงการ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ 7.9 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางขุนเทียน-บางบัวทองวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-จุดผ่านแดนถาวรสะเดา (มาเลเซีย-เขตแดนไทย) 4.07 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์สายทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค จ.ภูเก็ต วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท
ศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้า เชียงราย วงเงิน 2.1 พันล้านบาท, ทางด่วนสายกระทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท, ท่าเรือบก ของการท่าเรือ วงเงิน 3 พันล้านบาท เป็นต้น
@สั่งปรับแผนเร่งเบิกจ่ายงบปี 63 เป้าต้อง 100%
สำหรับงบประมาณปี 2563 ได้เร่งให้ทุกหน่วยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ ซึ่งในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้คาดว่าจะลงนามได้ประมาณ 2,000 กว่าโครงการ โดยในปี 2563 มีโครงการที่เป็นรายจ่ายลงทุนรวม 11,085 รายการ วงเงินรวม 118,403 ล้านบาท (ไม่รวมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ) โดยเป็นโครงการรายจ่ายที่ลงทุนปีเดียวจำนวน 10,792 รายการ วงเงิน 100,441.34 ล้านบาท สามารถลงนามแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 3,466.99 ล้านบาท โครงการใหม่ที่เป็นรายจ่ายผูกพัน มีจำนวน 293 รายการ วงเงิน 17,961.33 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายรัฐบาลกำหนดเบิกจ่าย 30 ก.ย. 2563 ไว้ที่ 100% ขณะที่กระทรวงฯ ทำแผนเบิกจ่ายถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2563 ที่ 87% ดังนั้นจึงให้แต่ละหน่วยงานกลับไปปรับแผนการเบิกจ่ายงบฯ ใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100% ของรัฐบาล เช่น กรณี 13% ที่เหลือนั้น หากเป็นแหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ให้นำไปใช้ดำเนินโครงการอื่นๆ แทนเพื่อให้เบิกจ่ายครบ 100% โดยต้องอยู่ภายใต้ระเบียบพัสดุ โดยให้หน่วยงานนำเสนอแผนเบิกจ่ายที่ปรับปรุงใหม่ในวันที่ 10 มี.ค.นี้
“จะติดตามการเบิกจ่ายทุกเดือน อะไรที่มีปัญหาจะต้องเร่งแก้ไข ซึ่งนายกฯ กำหนดเรื่องเบิกจ่ายเป็นตัวชี้วัด หากทำไม่ได้จะมีปัญหาในการประเมินผลงานด้วย ที่ต้องให้ปรับแผนใหม่ เพราะเดือน ก.พ.เป้ารัฐบาล เบิกจ่าย 44% ส่วนแผนคมนาคมอยู่ที่ 15% เดือน มี.ค.เป้ารัฐบาล 54% แผน 23% เดือน เม.ย. เป้า 62% แผน 30%, เดือน ส.ค. เป้ารัฐบาล 92% แผน 77% เท่านั้น แบบนี้ไม่ได้ ต้องปรับใหม่”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นั้น เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงสนามบิน ซึ่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะนำเสนอ ส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้เสนอแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่ เช่น ลดค่าพลังงาน ค่า NGV LPG ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน รวมถึงเจรจาบริษัทไฟแนนซ์ชะลอการชำระค่างวดต่างๆ