ทดลองให้บริการเสมือนจริง “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” เตาปูน–ท่าพระ วิ่งแบบครบลูป แนะเที่ยวสุดท้ายเผื่อเวลาอย่างน้อย 5 นาทีกันตกขบวน พบคนที่อยู่ย่านรัชดาภิเษก-ลาดพร้าว กลับดึกไปฝั่งจรัญฯ ได้ถึง 5 ทุ่มครึ่ง แถมกลับทันขบวนสุดท้ายรถไฟฟ้าบีทีเอสไปเคหะ-ม.เกษตรศาสตร์ได้อีก
... รายงานพิเศษ โดยทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ...
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ปรับรูปแบบการทดลองให้บริการเสมือนจริง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน–ท่าพระ โดยผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีเตาปูน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
ถือเป็นการทดสอบความพร้อมของระบบการเดินรถที่จะวิ่งตามโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line) ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยคิดค่าโดยสารตามจำนวนสถานี เริ่มต้นที่ 16-42 บาท โดยจะคำนวณจากระยะทางที่ใกล้ที่สุด
• ทำความรู้จัก “วิ่งแบบครบลูป”
ลักษณะการวิ่งของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนับจากนี้ไป จะเริ่มต้นที่สถานีท่าพระ ชานชาลาที่ 3-4 (ชั้น 4 ของสถานี) ไปตามสถานีจรัญฯ 13, ไฟฉาย, บางขุนนนท์, บางยี่ขัน, สิรินธร, บางพลัด, บางอ้อ, บางโพ, เตาปูน (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง), บางซื่อ, กำแพงเพชร, สวนจตุจักร (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต)
พหลโยธิน (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีห้าแยกลาดพร้าว), ลาดพร้าว, รัชดาภิเษก, สุทธิสาร, ห้วยขวาง, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, พระราม 9, เพชรบุรี (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีมักกะสัน), สุขุมวิท (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก), ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, คลองเตย, ลุมพินี
สีลม (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง), สามย่าน, หัวลำโพง, วัดมังกร, สามยอด, สนามไชย, อิสรภาพ, ท่าพระ ชานชาลาที่ 1 (ชั้น 3 ของสถานี), บางไผ่, บางหว้า (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบางหว้า), เพชรเกษม 48, ภาษีเจริญ, บางแค สิ้นสุดที่สถานีหลักสอง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 18 นาที
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ออกแบบมาให้มีโครงข่ายเป็นวงกลม จากสถานีเตาปูน ถ้าต้องการเดินทางไปยังสถานีหลักสอง ก็สามารถนั่งย้อนไปตามเส้นทางบางโพ, บางอ้อ, บางพลัด, สิรินธร, บางยี่ขัน, บางขุนนนท์, ไฟฉาย, จรัญฯ 13 ลงสถานีท่าพระ ไปที่ชั้น 3 ชานชาลาที่ 1 ต่อขบวนรถไปยังสถานีหลักสองได้เลย
• เที่ยวสุดท้ายท่าพระไปทางบางซื่อ 23.11 น. หลักสองวนเข้าเมือง 23.08 น.
MGR Online สำรวจกำหนดเวลาให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีผลไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า สำหรับขบวนรถจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) มุ่งหน้าไปสถานีหลักสอง รถออกเที่ยวแรก วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.43 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 05.56 น. ส่วนเที่ยวสุดท้าย (ทุกวัน) เวลา 23.11 น.
กรณีที่ต้องการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วง เที่ยวสุดท้ายออกจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เวลา 23.02 น. ใช้เวลา 19 นาที ถึงสถานีเตาปูน 23.21 น. (รถไฟฟ้าสายสีม่วง ออกจากสถานีเตาปูน เที่ยวสุดท้าย 23.24 น. ถึงสถานีคลองบางไผ่ 23.59 น.)
ส่วนสถานีหลักสอง มุ่งหน้าไปสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) รถออกเที่ยวแรก วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 05.57 น. เที่ยวสุดท้าย (ทุกวัน) เวลา 23.08 น. ถึงสถานีปลายทางท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เวลา 00.26 น.
ส่วนความถี่ในการปล่อยขบวนรถ พบว่า วันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 05.30-07.00 น. รถออกทุก 5 นาที หลังจากนั้น เวลา 07.00-09.00 น. ช่วงสถานีบางหว้า-สถานีเตาปูน รถออกทุก 3 นาที 29 วินาที ช่วงสถานีบางโพ-ท่าพระ รถออกทุก 6 นาที 58 วินาที, หลังจากนั้น เวลา 09.00-16.30 น. รถออกทุก 6 นาที 30 วินาที
เวลา 16.30-17.30 น. รถออกทุก 5 นาที, เวลา 17.30-21.00 น. รถออกทุก 3 นาที 50 วินาที และเวลา 21.00-24.00 น. รถออกทุก 7 นาที 15 วินาที ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รถออกทุก 7 นาที 15 วินาที (เฉพาะวันเสาร์ เวลา 15.30-19.00 น. รถออกทุก 5 นาที 55 วินาที)
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้โดยสารต้อง “เผื่อเวลาอย่างน้อย 5 นาที” ก่อนรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายจะออกจากสถานี เช่น เที่ยวสุดท้ายออกจากสถานีหลักสองมุ่งหน้าสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เวลา 23.08 น. จะต้องเผื่อเวลามาถึงสถานีอย่างน้อย 23.00 น. หากเลยเวลาดังกล่าวถือว่า “ตกรถไฟฟ้า” ต้องต่อแท็กซี่เข้าเมืองแน่นอน
• “พระราม 9-รัชดาฯ-ลาดพร้าว” ไปฝั่งจรัญสนิทวงศ์-บางพลัด-สิรินธร เผื่อเวลากลับ 5 ทุ่มครึ่ง
การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีแก่คนที่อยู่อาศัยย่านบางพลัด จรัญสนิทวงศ์ ปิ่นเกล้า บางกอกน้อย ไปจนถึงท่าพระ ที่สามารถเดินทางไป-กลับ ระหว่างฝั่งธนบุรีกับโซนจตุจักร ลาดพร้าว และรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นย่านอาคารสำนักงานและย่านธุรกิจใจกลางเมือง
ถ้าอยู่โซนรัชดาภิเษก ลาดพร้าว จตุจักร บางซื่อ จะกลับบ้านฝั่งจรัญสนิทวงศ์ ควรออกจากย่านดังกล่าวเวลาไหน จากการสำรวจรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายพบว่า ขบวนรถเที่ยวสุดท้ายจากสถานีหลักสอง จะมาถึงสถานีพระราม 9 เวลา 23.45 น., สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เวลา 23.48 น., สถานีห้วยขวาง เวลา 23.50 น.
สถานีรัชดาภิเษก เวลา 23.54 น., สถานีลาดพร้าว เวลา 23.56 น., สถานีพหลโยธิน เวลา 23.58 น., สถานีสวนจตุจักร เวลา 00.01 น., สถานีกำแพงเพชร เวลา 00.03 น., สถานีบางซื่อ เวลา 00.05 น., สถานีเตาปูน เวลา 00.07 น., สถานีบางโพ เวลา 00.09 น., สถานีบางอ้อ เวลา 00.11 น., สถานีบางพลัด เวลา 00.13 น.
สถานีสิรินธร เวลา 00.15 น., สถานีบางยี่ขัน เวลา 00.17 น., สถานีบางขุนนนท์ เวลา 00.20 น., สถานีไฟฉาย เวลา 00.22 น. และสถานีจรัญฯ 13 เวลา 00.24 น. โดยต้องขึ้นรถที่ชานชาลาระบุว่า “ไปท่าพระ ผ่านบางซื่อ” เท่านั้น จึงจะข้ามไปฝั่งจรัญสนิทวงศ์ได้
• “ไปหลักสองเที่ยวสุดท้าย” ต้องไปตามป้ายเท่านั้น / จากดอนเมืองแนะเผื่อเวลา 30-45 นาที
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ต้องการนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีปลายทางหลักสอง ควรยึดเวลารถออกเที่ยวสุดท้ายจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เป็นหลัก เพราะถ้าขึ้นรถที่ชานชาลาระบุว่า “ไปท่าพระ ผ่านบางซื่อ” จะถึงสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เวลา 00.26 น. ซึ่งจะไม่ทันต่อขบวนรถชานชาลาที่ 1 ไปสถานีหลักสองเวลา 00.18 น.
หากต้องการเดินทางไปสถานีปลายทางหลักสอง ให้ขึ้นรถที่ชานชาลาระบุว่า “ไปหลักสอง” โดยขบวนรถจะมาถึงสถานีเตาปูน เวลา 23.30 น., สถานีบางซื่อ เวลา 23.33 น., สถานีกำแพงเพชร เวลา 23.35 น., สถานีสวนจตุจักร เวลา 23.37 น. (กรณีที่มาจากสนามบินดอนเมืองโดยรถประจำทางสาย A1 ควรเผื่อเวลาจากต้นทาง 30-45 นาที)
สถานีพหลโยธิน เวลา 23.39 น., สถานีลาดพร้าว เวลา 23.42 น., สถานีรัชดาภิเษก เวลา 23.43 น., สถานีสุทธิสาร เวลา 23.45 น., สถานีห้วยขวาง เวลา 23.47 น., สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เวลา 23.50 น., สถานีพระราม 9 เวลา 23.52 น., สถานีเพชรบุรี เวลา 23.54 น., สถานีสุขุมวิท เวลา 23.56 น.
สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 23.58 น., สถานีคลองเตย เวลา 00.00 น., สถานีลุมพินี เวลา 00.02 น., สถานีสีลม เวลา 00.04 น., สถานีสามย่าน เวลา 00.05 น., สถานีหัวลำโพง เวลา 00.08 น., สถานีวัดมังกร เวลา 00.10 น., สถานีสามยอด เวลา 00.12 น., สถานีสนามไชย เวลา 00.13 น., สถานีอิสรภาพ เวลา 00.16 น.
สถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 1) เวลา 00.18 น., สถานีบางไผ่ เวลา 00.20 น., สถานีบางหว้า เวลา 00.21 น., สถานีเพชรเกษม 48 เวลา 00.23 น., สถานีภาษีเจริญ เวลา 00.25 น., สถานีบางแค เวลา 00.27 น. และถึงสถานีปลายทางหลักสอง เวลา 00.29 น. จากจุดนี้มีรถประจำทางวิ่งตลอดคืน สาย 7, 80, ปอ.80, 84 และ ปอ.84 (ยูโรทู)
• ต่อ “บีทีเอส หมอชิต” ไป ม.เกษตรฯ ขบวนสุดท้ายทันแน่ แต่ “แอร์พอร์ตลิงก์” อาจจะไม่ทัน
อาจมีคนสงสัยว่า จากการเปรียบเทียบกับเวลาให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสพบว่า จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเที่ยวสุดท้าย สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ทัน แต่จากรถไฟฟ้าบีทีเอสเที่ยวสุดท้าย หลังเวลา 24.00 น. จะต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเที่ยวสุดท้ายไม่ทัน
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสวนจตุจักร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต ขบวนรถเที่ยวสุดท้ายจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) จะมาถึงเวลา 23.37 น. และจากสถานีหลักสองจะมาถึงเวลา 00.01 น.
แม้อาจจะไม่ทันขบวนสุดท้ายไปสถานีเคหะ (เวลา 23.44 น.) เพราะต้องเผื่อเวลาเดินต่อรถไฟฟ้าประมาณ 10 นาที แต่จะทันขบวนสุดท้ายไปสถานีสำโรง บางหว้า สนามกีฬาแห่งชาติ เวลา 00.14 น. และขบวนสุดท้ายไปสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เวลา 00.44 น. รถออกทุก 8 นาที
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีมักกะสัน ขบวนรถเที่ยวสุดท้ายจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) จะมาถึงเวลา 23.54 น. และจากสถานีหลักสองจะมาถึงเวลา 23.44 น. อาจจะไม่ทันขบวนสุดท้ายไปสถานีสุวรรณภูมิ (เวลา 00.03 น.) เพราะต้องเผื่อเวลาเดินขึ้นสกายวอล์กต่อรถไฟฟ้าประมาณ 15 นาที
• ต่อ “บีทีเอส อโศก” ไปเคหะฯ-สำโรงก็ทัน - “บีทีเอส ศาลาแดง” ยังมีขบวนรถหลังเที่ยงคืน
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสุขุมวิท เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก ขบวนรถเที่ยวสุดท้ายจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) จะมาถึงเวลา 23.56 น. และจากสถานีหลักสองจะมาถึงเวลา 23.42 น. ทันขบวนสุดท้ายไปสถานีเคหะ เวลา 00.07 น. ขบวนสุดท้ายไปสถานีสำโรง เวลา 00.37 น.
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสีลม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง ขบวนรถเที่ยวสุดท้ายจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) จะมาถึงเวลา 00.04 น. และจากสถานีหลักสองจะมาถึงเวลา 23.34 น. รถไฟฟ้าบีทีเอสยังมีขบวนรถให้บริการเที่ยวสุดท้าย 00.34 น. ไปสถานีช่องนนทรี สุรศักดิ์ สะพานตากสิน ถึงสถานีปลายทางบางหว้า
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางหว้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบางหว้า ขบวนรถเที่ยวสุดท้ายจากสถานีหลักสอง จะมาถึงเวลา 23.16 น. แม้จะทันขบวนสุดท้ายไปสถานีเคหะ เวลา 23.36 น. แต่ให้นั่งเลยมาลงสถานีสุขุมวิท (เวลา 23.42 น.) แล้วไปต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีอโศก จะประหยัดเวลา ไม่ต้องอ้อมไปต่อรถที่สยาม
• เที่ยวสุดท้ายไป “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” ยังต้องกลับเร็วเหมือนเดิม - จากหลักสองต้องนั่งอ้อมยาว
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) พบว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะแนะนำขบวนที่เชื่อมต่อเที่ยวสุดท้ายของสายสีม่วงเสมอ จากสถานีหลักสองเวลาที่แนะนำคือ 22.47 น. นั่งต่อไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ถึงสถานีเตาปูน 23.21 น. จากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เวลาที่แนะนำคือ 23.02 น. ถึงสถานีเตาปูน 23.21 น. เช่นกัน
อนึ่ง ขบวนที่เชื่อมต่อเที่ยวสุดท้ายสายสีม่วง จากสถานีหลักสอง ไม่สามารถเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระได้ทัน เพราะจะถึงสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 2) เวลา 23.19 น. ขณะที่ขบวนรถจากสถานีท่าพระ (ชานชาลาที่ 3-4) เชื่อมต่อเที่ยวสุดท้ายสายสีม่วง ออกจากสถานีไปแล้วเวลา 23.02 น.
ส่วนขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงต้นทางสถานีคลองบางไผ่ เที่ยวสุดท้าย 22.47 น. ถึงสถานีเตาปูน 23.22 น. จากจุดนี้หากใช้ชานชาลา 1 (ไปปลายทางหลักสอง) เที่ยวสุดท้าย 23.30 น. ถึงสถานีปลายทางหลักสอง 00.29 น. หากใช้ชานชาลา 2 (ไปปลายทางท่าพระ ชานชาลา 3-4) เที่ยวสุดท้าย 00.07 น. ถึงสถานีปลายทางท่าพระ 00.26 น.
ระบบการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่วิ่งตามโครงข่ายเป็นวงกลม ผู้โดยสารอาจเปลี่ยนขบวนรถเพื่อให้ถึงที่หมายเร็วขึ้น โดยอาจต้องจดจำชานชาลา 2 สถานีหลัก ได้แก่ สถานีท่าพระ และ สถานีเตาปูน
สถานีท่าพระ มีทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่ ชั้น 1 เป็นทางขึ้นระดับดิน, ชั้น 2 ชั้นออกบัตรโดยสาร, ชั้น 3 ชานชาลาที่ 1 (ทิศใต้) ไปบางหว้า บางแค ปลายทางหลักสอง, ชานชาลาที่ 2 (ทิศเหนือ) ไปอิสรภาพ หัวลำโพง สีลม สุขุมวิท ปลายทางท่าพระ (วนซ้าย), ชั้น 4 ไปจรัญฯ 13, สิรินธร, เตาปูน ปลายทางหลักสอง (วนขวา)
สถานีเตาปูน มีทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่ ชั้น 1 เป็นทางขึ้นระดับดิน, ชั้น 2 ชั้นออกบัตรโดยสาร, ชั้น 3 ชานชาลาที่ 1 (ทิศเหนือ) ไปบางซื่อ สวนจตุจักร ลาดพร้าว ปลายทางหลักสอง, ชานชาลาที่ 2 (ทิศใต้) ไปบางอ้อ สิรินธร บางขุนนนท์ ปลายทางท่าพระ, ชั้น 4 ไปบางซ่อน ศูนย์ราชการนนทบุรี สะพานพระนั่งเกล้า ปลายทางคลองบางไผ่
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดนี้ได้จากการสำรวจของทีมข่าวฯ เท่านั้น หากมีข้อสงสัยในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สามารถขอความช่วยเหลือได้จากเจ้าหน้าที่ประจำสถานี หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูล หมายเลขโทรศัพท์ 0-2624-5200