บอร์ด รฟม.ไฟเขียวร่างสัญญาร่วมทุนฯ รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย (ศรีรัช-เมืองทองธานี) เร่งชง ครม. คาดเซ็นสัญญาเพิ่มเติม “กลุ่มบีทีเอส” ได้ภายใน ส.ค.นี้ ส่วนสายสีเหลืองต่อขยาย ประเมินผลกระทบสัมปทาน BEM ยังไม่จบ “บีทีเอส” ติงผลศึกษา
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประะทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน วันที่ 11 มี.ค. ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี กับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) ผู้รับสัมปทาน หลังจากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และอัยการสูงสุด หลังจากนั้นจะผนวกกับผลการเจรจานำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาเพิ่มเติมกับผู้รับสัมปทานได้ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 63
ส่วนต่อขยายสายสีชมพู (สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี) ระยะทาง 3 กม. จำนวน 2 สถานี มีวงเงินลงทุน 3,379 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้หลังจากเปิดสายสีชมพูสายหลักแล้ว 2 ปีครึ่ง และช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้สายสีชมพูอีก 10%
@สีเหลืองต่อขยายไม่จบ บีทีเอสติงผลศึกษา แย่งผู้โดยสารสีน้ำเงินไม่ถึง 9,000 คน
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ส่วนต่อขยายจากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธินนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่าอยู่ระหว่างศึกษาปรับแก้ตัวเลขผลกระทบที่มีต่อสัมปทานสายสีน้ำเงิน ซึ่งล่าสุดทางบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง ระบุว่า การเชื่อมต่อเดินทางจากสายสีเหลืองไปยังสายสีเขียว (บีทีเอส) นั้นจะมีค่าแรกเข้า แม้ว่าบีทีเอสจะเป็นผู้ถือหุ้นใน EBM แต่ถือว่าเป็นคนละนิติบุคคล ซึ่งค่าแรกเข้ามีผลต่อการตัดสินใจของผู้โดยสารที่จะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินมาใช้สีเหลืองน้อยลง ซึ่งทำให้ผู้โดยสารของสีน้ำเงินลดลงไม่ถึง 9,000 คน/วัน ตามที่มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้
โดยสายสีเหลืองส่วนต่อขยายช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท
@เตรียมเวนคืนเพิ่ม 50 แปลง ขยายทางเท้าทางขึ้นลงสถานีสายสีเขียว
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบการตรา พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเพิ่มเติมสำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สำหรับขยายพื้นที่ทางเท้า บริเวณทางขึ้นลงสถานีให้มีความกว้าง 1.50 เมตรตามมาตรฐาน ซึ่งจากการสำรวจตลอดเส้นทางพบว่ามีพื้นที่เวนคืนเพิ่มทั้งสิ้น 50 แปลง ซึ่งประเมินค่าเวนคืนยังอยู่ในกรอบวงเงินเวนคืนโครงการสายสีเขียวที่ได้รับอนุมัติเดิม