xs
xsm
sm
md
lg

BTSจ่อตอกเข็ม"สีชมพู"ต่อขยาย EIAฉลุย-เปิดตลอดสายปลาย64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"บีทีเอส" พร้อมตอกเข็มรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เข้าเมืองทองธานี ต้นปี 63 มั่นใจเสร็จพร้อมสายหลัก (แคราย-มีนบุรี) เปิดปลายปี 64 เผยล่าสุด EIAผ่านแล้ว ส่วนสายสีเหลือง ต่อขยาย ผู้ว่าฯรฟม.เผยผลกระทบสัญญา BEM สรุปในธ.ค.นี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี)ว่า อยู่ระหว่าง รอพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข้อกังวลในเรื่องการซ่อมบำรุงช่วงที่สถานีรถไฟฟ้าอยู่ใกล้กับทางด่วน ขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ซึ่งการหารือได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว หากผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) จะมีการเจรจาในการทำสัญญาแนบท้ายสัญญา และเสนอครม.เห็นชอบ และลงนามสัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทฯคาดหวังว่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างได้ ช่วงต้นปี 63 และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จพร้อมเส้นทางหลัก (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ที่ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว เพื่อให้เปิดให้บริการพร้อมกันตลอดทั้งสายในช่วงปลายปี 64

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ส่วนต่อขยายจากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธินนั้น การเจรจาเงื่อนไขต่างๆ กับ รฟม.จบแล้ว อยู่ระหว่างรอทางรฟม.พิจารณา กรณีที่อาจจะมีผลต่อสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงิน ซึ่งหากมีเงื่อนไขที่กระทบต่อข้อตกลงที่ได้เจรจาตกลงไปแล้ว ก็อาจต้องเจรจาใหม่

EIAฉลุย เปลี่ยนตำแหน่ง2สถานี

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนรายละเอียด EIAโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี กรณีเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการ นนทบุรี (PK01)และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26)ของรฟม.

และเห็นชอบ โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ส่วนช่องนนทรี - สาทร) กรณีปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าตากสิน (S6) ของสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก ปลอดภัย โดยให้เจ้าของโครงการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในรายงานอย่างเคร่งครัด รับความเห็นของคณะกรรมการฯไปดำเนินการ และให้นำความเห็นของคณะกรรมการฯ เสนอครม. ตามขั้นตอนต่อไป

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. กล่าวว่า สายสีชมพู ส่วนต่อขยายจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี รฟม.นำเสนอ คณะกรรมการกำกับโครงการฯ ตามมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 พิจารณาตัวเลขผลตอบแทนทางการลงทุน (EIRR)แล้ว ส่วนสายสีเหลือง ต่อขยาย มีประเด็นกรณีที่จะกระทบต่อสัญญาสัมปทาน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEMนั้น รฟม.ได้ให้ทาง BEMจ้างที่ปรึกษา ศึกษารายละเอียดผลกระทบ ซึ่งจะสรุปผลศึกษาภายในเดือนธ.ค.นี้ โดยจะใช้เป็นข้อมูลในการเจรจากับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM)ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง ต่อไป

"หลักการสำคัญ รฟม. จะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับมากที่สุด ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า มีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินแค่ไหน และจะต้องเยียวยากันอย่างไร ขอดูผลศึกษาที่สรุปตัวเลขออกมาก่อน"

สำหรับสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานี ศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. จำนวน 2 สถานี ลงทุนกว่า 3,300 ล้านบาท สายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น