xs
xsm
sm
md
lg

EIA ฉลุย! เตรียมทุบสะพานตากสิน “ขยายสถานีบีทีเอส” แก้คอขวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2562 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การขอเปลี่ยนรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2 โครงการ ได้แก่

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กรณีเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

2. โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ส่วนช่องนนทรี-สาทร) : กรณีปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าตากสิน (S6) ของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงโครงการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก ปลอดภัย

โดยให้เจ้าของโครงการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในรายงานอย่างเคร่งครัด รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำความเห็นของคณะกรรมการฯ เสนอ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กล่าวว่า ในส่วนของการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าตากสิน (S6) หลังจาก EIA ผ่านแล้วจะต้องมีการประชุมร่วมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงคมนาคม บีทีเอส และตำรวจ เพื่อหารือถึงแผนการก่อสร้างและการจัดการด้านจราจรเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างต้นปี 2563 โดยมีแบบบการก่อสร้างพร้อมแล้ว


ทั้งนี้ แผนการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า สะพานตากสิน (S6) เพื่อแก้ปัญหาคอขวดต้องมีการขยายสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (สะพานสาทร) โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เห็นชอบแบบแล้ว ทั้งทางวิศวกรรมและความปลอดภัย รวมถึงในระหว่างการก่อสร้างที่จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรบนสะพานและรถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงให้บริการตามปกติ

ทาง กทม.และบีทีเอสจะต้องทำการก่อสร้างขยายตัวสะพานสาทรให้เสร็จก่อนที่จะขยายตัวสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้มีขนาด 3 ช่องจราจรไปกลับ

ปัจจุบันสถานีตากสินเป็นทางวิ่งเดียว รถไฟฟ้าต้องรอหลีก การบริการไม่สะดวกเป็นคอขวด จึงต้องขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง ทำให้จะต้องใช้พื้นที่ของสะพานสาทรด้านในที่ติดกับสถานี กว้างฝั่งละประมาณ 1.80 เมตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรบนสะพาน ต้องขยายปีกสะพานสาทรด้านนอกทั้งขาเข้าและขาออก กว้างฝั่งละ 230 เมตร ยาว 300 เมตร ให้เสร็จก่อน ใช้เวลาประมาณ 30 เดือน ตัวสะพานสาทรจะเบี่ยงออกนิดหน่อย โดยมีเสาเหล็กปักบนทางเท้ารองรับฝั่งละ 8 ต้น และเมื่อขยายสะพานแล้วเสร็จ จึงจะขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง

อย่างไรก็ตาม บีทีเอสคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ต้องหารือกับ กทม.ในเรื่องสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อไป และในบางช่วงอาจต้องปิดสถานีตากสิน (รถวิ่งผ่านไม่จอด) เพื่อให้การก่อสร้างได้รวดเร็ว และเสร็จภายใน 40 เดือน และเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความถี่ในการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีลม จากปัจจุบัน 4 นาทีต่อขบวน เป็น 2 นาทีเท่ากับสายสุขุมวิท


กำลังโหลดความคิดเห็น