“พาณิชย์” เคาะจ่ายส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดที่ 16 มีข้าว 3 ชนิดได้รับชดเชย ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่และข้าวเหนียวไม่ได้เหมือนเดิม ส่วนยอดรวมประกันรายได้ข้าวล่าสุดมีเกษตรกรได้ประโยชน์แล้ว 9.4 แสนครัวเรือน วงเงิน 1.91 หมื่นล้าน คาดแนวโน้มราคาดีต่อเนื่อง เหตุมาตรการรัฐได้ผล และผลผลิตข้าวลดลง ทำให้มีการแย่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้น
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยมีมติให้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 16 ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกหอมมะลิ ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเหนียวไม่จ่ายชดเชยส่วนต่าง เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน
สำหรับการชดเชยส่วนต่าง เกษตรกรที่แจ้งเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 16-22 ก.พ. 2563 จะได้รับการชดเชย โดยมีรายละเอียด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตลาดเฉลี่ยตันละ 8,247.13 บาท ได้รับส่วนต่างตันละ 1,752.87 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาตลาดตันละ 10,040.09 บาท ได้รับส่วนต่างตันละ 959.91 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตลาดตันละ 14,670.60 บาท ได้รับชดเชยตันละ 329.40 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาตลาดตันละ 14,008.24 บาท ไม่ได้รับชดเชย และราคาข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 17,519.27 บาท ไม่ได้รับชดเชยเช่นเดียวกัน
“การจ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 16 รัฐจ่ายชดเชยลดลง มีข้าวที่ต้องจ่ายเพียงแค่ 3 ชนิด แต่จริงๆ จ่ายแค่ 2 ชนิด เพราะข้าวเปลือกหอมมะลิไม่มีเกษตรกรแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวในงวดนี้ จึงเหลือเพียงเกษตรกรที่ปลูกข้าวเจ้ากับข้าวหอมปทุมธานี จำนวน 7,111 ครัวเรือน ที่จะได้รับชดเชย มีวงเงินชดเชยประมาณ 50 ล้านบาท โดยข้าวเปลือกเจ้าจะได้รับชดเชยสูงสุดรวม 52,586.10 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานีได้เงินรวม 23,997.75 บาท”
ทั้งนี้ ผลสรุปการจ่ายชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562/63 ล่าสุดจ่ายไปทั้งสิ้น 16 งวด รวมมีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยแล้ว 940,609 ครัวเรือน วงเงินชดเชย 19,112.95 ล้านบาท คิดเป็น 91.27% จากวงเงินเป้าหมายชดเชยรวม 20,940.84 ล้านบาท
นายวิชัยกล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวเปลือกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเสริมที่รัฐบาลได้นำมาใช้ ทั้งการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท ทำให้เกษตรกรชะลอการนำข้าวออกไปขาย การช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการค้าข้าวในการรวบรวมข้าวและเก็บสต๊อก ทำให้มีการดึงผลผลิตข้าวส่วนเกินออกจากตลาด และขณะนี้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง ทำให้โรงสีและพ่อค้าข้าวแย่งกันซื้อข้าวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มงวดต่อไปจะชดเชยน้อยลงอีก