xs
xsm
sm
md
lg

ติดเทอร์โบเมกะโปรเจกต์กระตุ้นเศรษฐกิจ “คมนาคม” กำงบฯ 1.7 แสนล้านลุยเทกระจาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาทนั้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทไม่เป็นโมฆะ กระทรวงคมนาคมพร้อมเร่งรัดเดินหน้าโครงการในทันทีที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ประกาศใช้ เพื่อให้ทันกับเวลาดำเนินงานที่เหลืออีกเพียง 7 เดือน ก่อนที่จะสิ้นปีงบประมาณ

กระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณในปี 2563 วงเงินรวม 208,315.24 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 37,791.64 ล้านบาท (18.13%) งบลงทุน 170,523.60 ล้านบาท(81.87%) โดยเป็นงบในส่วนของหน่วยงานทางบกมากที่สุด จำนวน 170,530.1045 ล้านบาท (81.83%) รองลงมาเป็น ทางราง จำนวน 26,184.4285 ล้านบาท (12.56%) ทางอากาศ จำนวน 6,334.8518 ล้านบาท (3.04%) ทางน้ำ จำนวน 4,370.9861 ล้านบาท (2.10%) และด้านนโยบาย จำนวน 975.7083 ล้านบาท (0.47%)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตอนนี้ต้องเร่งรัดงาน ซึ่งได้มอบนโยบายไปแล้วว่าโครงการขนาดใหญ่ให้แยกสัญญา เหมือนโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ที่แยกเป็น 40 สัญญา ทั้งนี้เพื่อให้งานแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้วางแผนการก่อสร้างให้กระจายความเจริญไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากงานในปี 2563 แล้ว ให้เร่งรัดโครงการในปี 2564 ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทซึ่ง ครม.สัญจร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมาได้อนุมัติ 46 โครงการ วงเงิน 179,671.20 ล้านบาท
โดยให้เร่งประสานงานสภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณในการนำเสนอ ครม.ขออนุมัติเป็นรายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่มีความพร้อมดำเนินการเพื่อให้เกิดการสร้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

@ เปิดบิ๊กโปรเจกต์ 86 โครงการ จ่อตอกเข็ม & เปิดประมูล
สำหรับโครงการในปี 2563 มีจำนวน 86 โครงการ โดยกรมทางหลวง (ทล.) วงเงินรวม 124,506 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทาง 16.8 กม. วงเงิน 3,930 ล้านบาท (ฝ่ายไทย 2,630 ล้านบาท) 2. โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก) ระยะทาง 16.127 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท

3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สายพัทยา-สัตหีบ ระยะทาง 22.242 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 290 ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 24.686 กม. วงเงิน 3,060 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทล.415 สายพังงา-อ.บ้านตาขุน ตอน บ.บางคราม-บ.ปากน้ำ ระยะทาง 26.78 กม. วงเงิน 1,600 ล้านบาท

6. มอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 32,210 ล้านบาท 7. มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างถนนสาย จ 4 และ จ 5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม 3.222 กม. วงเงิน 167.1 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างถนนสาย ง 1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ 7.425 กม. วงเงิน 425.450 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างถนนสาย นพ.3055 แยก ทล.212- บ.เหล่าภูมี อ.เมือง จ.นครพนม 4.287 กม. วงเงิน 60.972 ล้านบาท

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินกองทุน Thailand Future Fund (TFE), ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N2) วงเงิน 15,200 ล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 สายทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.80 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.70 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท

2. โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 25.90 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างรถไฟเส้นทางสายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท (ครม.อนุมัติแล้วอยู่ในขั้นตอนเวนคืน) 4. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงินรวม 263,453.57 ล้านบาท (อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ)

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.28 แสนล้าน ครม.อนุมัติแล้ว เตรียมประกวดราคา, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 124,959 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและเตรียมประกวดราคา, โครงการรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค เชียงใหม่, นครราชสีมา อยู่ระหว่างสรุปรายงานผลการศึกษา

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) งบปี 63 สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินกระบี่ วงเงิน 270 ล้านบาท, ปรับปรุงสนามบินสุราษฎร์ธานี วงเงิน 100 ล้านบาท, พัฒนาสนามบินนราธิวาส 160 ล้านบาท, สนามบินบุรีรัมย์ 155 ล้านบาท

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีโครงการก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 วงเงิน 21,795.941 ล้านบาท

ส่วนโครงการในพื้นที่ EEC เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) คาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับ Airbus ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้น โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโครงการลงทุนสำคัญด้านคมนาคมขนส่งมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 12%

@ กรมทางหลวงชนบทเคาะประมูล 3,000 สัญญา ทยอยเซ็นสัญญา
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 ทช.ได้รับงบประมาณ 47,472.0027 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้มีการทยอยเปิดประกวดราคาไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่หลังพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ผ่านวาระ 2 ตามที่กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้ง

ดังนั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ไม่มีปัญหา โครงการกว่า 3,000 สัญญาที่ได้ทยอยเปิดประมูล e-Bidding ไปแล้วบางส่วนตั้งแต่ ธ.ค. 2562 จะเริ่มเคาะราคา โดยโครงการเล็ก งบประมาณ 5-10 ล้านบาทได้ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. และประกาศผล คาดว่าจะเริ่มลงนามสัญญาได้เร็วสุดตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. 2563

ส่วนโครงการใหญ่จะเคาะราคาได้ราวเดือน มี.ค. จากนั้นตามขั้นตอนต้องส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณา คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 2563

“เชื่อว่าตอนนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งกระบวนการเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้เร็วที่สุด เพราะเราล่าช้ามามากแล้ว ซึ่งนอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วจะเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของประเทศอีกด้วย”

โครงการขนาดเล็กไม่กังวล แต่โครงการขนาดใหญ่จะต้องขออนุมัติงบประมาณ ซึ่ง รมว.คมนาคมให้นโยบาย กำชับให้เตรียมโครงการให้พร้อมเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการเสนองบประมาณ เพราะตอนนี้ล่าช้ามามากแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานให้มากที่สุด

“แม้ยังไม่มีงบประมาณปี 2563 แต่ ทช.ทั่วประเทศทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งเตรียมความพร้อมรอเมื่องบผ่าน เพื่อดำเนินการได้ทันที ภายใต้เวลาที่เหลือน้อยลง และโครงการในปี 2564 ซึ่งได้รับนโยบายให้เร่งดำเนินการโครงการที่มีความพร้อม ออกแบบ เวนคืน และ EIA ผ่านแล้ว ซึ่ง ทช.มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.สัญจรแล้ว 2 โครงการ วงเงินรวม 3,151 ล้านบาท

@ รับเหมางานล้น จับตาขาดแคลน “แรงงาน-วัสดุ” ต้องคุมเข้มคุณภาพงาน
การใช้จ่ายงบประมาณที่มีเวลาจำกัด เพียง 7 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ ในการประมูลโครงการก่อสร้างทั้งเล็กและใหญ่พร้อมๆ กันอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาฟันราคา แย่งชิงงานกัน

แต่ประเด็นที่น่ากังวลเมื่อมีการก่อสร้างโครงการจำนวนมากพร้อมๆ กันในช่วงครึ่งปีหลัง และต้องเร่งรัดงานเพราะเร่งเบิกจ่ายงบภายในเวลาอันจำกัด นั่นก็คือ ปัญหาเรื่องแรงงาน ราคาวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็ก ฯลฯ จะปรับขึ้น เพราะความต้องการใช้มีมากเกินปกติ ทำให้มีต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่ม นั่นก็อาจจะส่งผลไปถึงคุณภาพของงานตามไปด้วย

ดังนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการทำงาน ควบคุมผู้รับจ้าง เพื่อให้ก่อสร้างงานมีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในการประมูลได้มีการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่เหมาะสมไว้แล้ว และหากสถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นเกิน 4% จะมีค่า เค ชดเชยให้ผู้รับจ้าง ซึ่งจะต้องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาจัดหางบกลางหรืองบเหลือจ่ายชดเชยให้ต่อไป

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย .... แผนลงทุนเมกะโปรเจกต์กลับมาคึกคัก และเป็นความหวังเดียวของรัฐบาลที่พอจะกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้บ้างในเวลานี้ .... ที่สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019) ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และแม้จะควบคุมได้ ผลกระทบจากความวิตกจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหนยากที่จะคาดเดาได้ ...ซึ่งแน่นอน การท่องเที่ยว รายได้หลักของประเทศไทย คงซึมไปอีกยาว

รัฐบาลต้องเร่งปูพรม เปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้าง เพื่ออัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และสร้างความเชื่อมั่นกลับคืน










กำลังโหลดความคิดเห็น