บมจ.ทางยกระดับดอนเมืองยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.85 ของจำนวนหุ้นที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยบริษัทฯ มีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีบริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน, ชำระคืนหุ้นกู้, เงินลงทุน และเงินลงทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
บริษัทฯ ประกอบธุรกิจบริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงจนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 21.9 กิโลเมตร โดยได้รับสิทธิในการบริหารโครงการจากกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมืองเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2532 มีระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี (จากวันที่ 21 สิงหาคม 2532 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2557) และต่อมาในปี 2538 ปี 2539 และปี 2550 สัญญาสัมปทานดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข 3 ครั้ง ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาสัมปทานขยายเป็น 27 ปี นับจากวันที่ 12 กันยายน 2550 หรือสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 กันยายน 2577
โครงการทางยกระดับดอนเมือง (ดินแดง-รังสิต) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 28.1 กิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามผู้บริหารโครงการ ดังนี้ 1. ทางหลวงสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมือง เป็นทางหลวงสัมปทานดำเนินการโดยบริษัทฯ เริ่มต้นจากดินแดงถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางรวม 21.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย
ทางหลวงสัมปทานส่วนเดิม (Original Tollway) จากดินแดงถึงดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ประมาณ 180,000 คันต่อชั่วโมง
ทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ (Northern Extension) จากดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ประมาณ 160,000 คันต่อชั่วโมง
2. ทางหลวงส่วนต่อขยายรังสิต (Rangsit Extension) เป็นทางหลวงตอนต่อขยายของกรมทางหลวงที่เชื่อมต่อจากทางหลวงสัมปทานด้านทิศเหนือบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติถึงรังสิตบริเวณหน้าโรงกษาปณ์ ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังรวมถึงทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศใต้ เชื่อมทางยกระดับดอนเมืองกับทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) บริเวณดินแดงระยะทาง 1.5 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางที่ต้องการเชื่อมต่อไปยังทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
ผลดำเนินงานของบริษัท ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 มีสินทรัพย์รวม 11,559.7 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,725.4 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 6,834.3 ล้านบาท โดยงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 ก.ย. 62 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,165.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 1,311.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 854 ล้านบาท
รายได้หลักจากการเก็บค่าบริการค่าผ่านทาง สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. ปี 59-61 เท่ากับ 2,952.7 ล้านบาท 2,978.2 ล้านบาท 3,024.6 ล้านบาท ตามลำดับ และงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 61 และ 62 เท่ากับ 2,267.7 ล้านบาท 2,126.2 ล้านบาท ตามลำดับ รายได้ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปีตามปริมาณจราจรที่เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยและสัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว การปิดถนนเพื่อการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงการปิดปรับปรุงสะพานเข้าอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมือง การปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน และการลดพื้นที่จราจรบริเวณถนนชุมชนใต้สายรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นต้น
ด้านกำไรสุทธิ สำหรับปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. ปี 59-61 เท่ากับ 1,497.9 ล้านบาท 1,398.1 ล้านบาท 1,457.2 ล้านบาท ตามลำดับ และสำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 61 และ 62 เท่ากับ 1,087.6 ล้านบาท และ 854.0 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 50.7 ร้อยละ 46.9 ร้อยละ 48.2 ร้อยละ 48.0 และร้อยละ 40.2 ตามลำดับ ซึ่งการลดลงของอัตรากำไรสุทธิปี 59-60 เป็นผลมาจากบริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 (ปรับปรุง 2559) ส่งผลให้ต้นทุนสัมปทานในการใช้ทางยกระดับเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิปี 61 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 4.23 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหาร และต้นทุนทางการเงินลดลง อีกทั้งในปี 61 บริษัทฯ ได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมจากเมื่อปี 54 ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการคมนาคมบนทางยกระดับอุตราภิมุข จากกรมทางหลวง จำนวน 14.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม 9 เดือนแรกปี 2562 บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิลดลง เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 เนื่องจากในปี 2562 บริษัทฯ มีการรับรู้ประมาณการของค่าซ่อมบำรุงรักษา (Maintenance Obligations) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีเรื่องการรับรู้ค่าใช้จ่าย และประมาณการหนี้สินระยะยาว และมีค่าใช้จ่ายการซ่อมแซมทางยกระดับการให้บริการเพิ่มขึ้นจำนวน 102.1 ล้านบาท
แผนงานการลงทุนในโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ มีดังนี้ เส้นทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข โครงการทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขกับท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ในแผนงานโครงการพัฒนาฯ และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.ได้เสนอแผนในภาพรวมทั้งหมดต่อกระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่ง คค.ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปี 2562 บริษัทฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมร่วมกับ สนข. และ ทอท. เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของรูปแบบทางเชื่อมของโครงการ บริษัทฯ ยังคงต้องรอความชัดเจนในแผนการดำเนินงานส่วนอื่นของท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อจะกำหนดรูปแบบและตำแหน่งทางเชื่อมที่เหมาะสม รวมถึงการพิจารณาผลประโยชน์ในภาพรวมและผลตอบแทนในการลงทุนของบริษัทฯ ต่อไป
โครงการทางเชื่อมต่อระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (Missing Link) ในภาพรวมภาครัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์โดยรวมในการช่วยบรรเทาการจราจร และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังคงดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งบริษัทฯ รอติดตามข้อสรุปที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการของทางภาครัฐ เช่น แบบก่อสร้างและค่าก่อสร้างที่ชัดเจน แผนการบริหารโครงการ การโอนสิทธิทรัพย์สินเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว (BTO) ว่ามีแนวทางการดำเนินการอย่างไร และมีผลตอบแทนของโครงการที่เหมาะสมอย่างไร
การติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (2560-2579) ของกรมทางหลวงที่มีศักยภาพในการดำเนินการ
โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ของกรมทางหลวง ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร มีจุดขึ้นลงจำนวน 8 แห่ง โดยโครงการเริ่มต้นที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุข บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) และสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+880 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6)
โครงการหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ (M8) ของกรมทางหลวง ระยะทาง 119 กม. ลักษณะถนนมี 4 ช่องทางจราจร และมีด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 9 ด่าน และทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง ซึ่งเริ่มต้นจากจังหวัดนครปฐม สิ้นสุดเส้นทางที่จังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาและคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-ปากท่อ (M82) ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ของกรมทางหลวง ระยะทาง 25 กิโลเมตร โครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก เป็นทางยกระดับเหนือทางหลวงหมายเลข 35 ในเขตอำเภอบางขุนเทียน กม. 11+825 ขนานทางหลวงหมายเลข 35 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ไปสิ้นสุดบริเวณตำบลบ้านแพ้ว กม. 36+500 ทางหลวงหมายเลข 35 ระยะทางรวมประมาณ 25 กิโลเมตร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-ปากท่อ ซึ่งบริษัทฯ มีความสนใจโครงการนี้ เนื่องจาก ภาครัฐได้มีการลงทุนก่อสร้างช่วงแรกระยะ 10 กิโลเมตรแล้วเมื่อไตรมาสที่ 1/2562 มีโครงการลักษณะใกล้เคียงกับทางยกระดับอุตราภิมุข กล่าวคือ โครงสร้างเป็นทางยกระดับ และมีการจราจรในลักษณะเข้าและออกเมือง และได้เข้าร่วมการสัมภาษณ์เพื่อประเมินความสนใจของเอกชน (Market Sounding Interview) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียนบ้านแพ้ว (M82) เพื่อรับทราบข้อมูลโครงการเพิ่มเติมและให้ข้อคิดเห็นแก่ที่ปรึกษาฯ
โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Rest Area) ซึ่งในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแต่ละสายจะมีการกำหนดจุดพักรถ ที่แยกสัญญาการก่อสร้างและบริหารจัดการเพื่อให้เอกชนเข้าประมูลในการบริหารจัดการเป็นโครงการแยกจากการบริหารจัดการและบำรุงรักษาทาหลวงพิเศษ (O&M) และตามที่บริษัทฯ ให้ความสนใจในการเข้าร่วมบริหารจัดการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงมีแนวคิดในการศึกษาการบริหารจัดการจุดพักรถ
นอกจากนี้ การติดตามความคืบหน้าโครงการของการทางพิเศษที่มีศักยภาพในการดำเนินการ ทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร กทพ.ได้มีการศึกษาโครงการทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) แนวสายทาง จุดเริ่มต้นโครงการที่ตำบลป่าตอง บริเวณถนนพระเมตตา เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. แล้วจึงเป็นอุโมงค์ ระยะทาง 1.9 กม. หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.2 กม. สิ้นสุดโครงการที่ ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 โดยบริษัท ได้ให้ความสนใจโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีระทางที่สั้น ง่ายต่อการบริหารจัดการ บริษัทฯ สามารถใช้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการจราจร และบำรุงรักษาได้โดยง่าย ซึ่งจะต้องพิจารณาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคก่อสร้างอุโมงค์ ในการร่วมดำเนินการต่อไป
โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของ กทพ. ระยะทางประมาณ 18.7 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มต้นจากถนนพระราม 3 เชื่อมกับจุดทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัชช่วงกิโลเมตรที่ 18+000 โดยช่วงพระราม 3-ดาวคะนอง มีระยะทางประมาณ 17.1 กิโลเมตร และช่วงดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุมเทพมหานครด้านตะวันตกมีระยะทาง 11.6 กิโลมตรสิ้นสุดเส้นทางที่จุดเลยทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนประมาณ ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2563
โครงการอื่นๆ บริษัทฯ ได้ทำการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Committee) และคณะทำงานโครงการใหม่ (New Project Development Working Team) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการใหม่ที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ มีความรู้และความชำนาญในการดำเนินงานเพื่อต่อยอดความสำเร็จของบริษัทฯ นอกจากนี้บริษัทฯ มีการจัดตั้งที่ปรึกษาเพื่อทำการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการ (Feasibility Study) ซึ่งบริษัทฯ ได้กำหนดดัชนีทางการเงินและผลตอบแทนที่คาดหวังในการสรรหาโครงการใหม่ที่มีผลตอบแทนที่ดีซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 6,142,410,560 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,181,232,800 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 5,414,410,560 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,041,232,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท และภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 6,142,410,560 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,181,232,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มครอบครัวพานิชชีวะ ถือหุ้น 373.8 ล้านหุ้น คิดเป็น 35.9% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 31.6%, บริษัท เอไอเอฟ โทลโรดส์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 306.6 ล้านหุ้น คิดเป็น 29.5% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 26%, กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 261.4 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.1% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 22.1%