นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า ปีใหม่นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมของขวัญให้กับประชาชน คือ ลดค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง พ่วงสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ค่าทางด่วน ค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ ตามนโยบายลดค่าครองชีพให้ประชาชน
จะลดเท่าไรนั้น รอการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคาดว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 17 ธันวาคม
ถือว่าเป็นผลงานที่เป็นชิ้น เป็นอัน ชิ้นแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังจากที่มีแต่ข่าวว่าจะรื้อถอน ระงับ เปลี่ยนแปลงโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่รัฐบาล คสช.ก่อนหน้านี้เห็นชอบไว้แล้ว อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ที่พยายามจะรื้อรูปแบบการลงทุนใหม่ การต่อสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 อีก 30 ปี แลกกับการที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะยุติข้อพิพาทที่มีทั้งหมด กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมทั้งไอเดียเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อแก้รถติด ติดจีพีเอสรถทุกคันซึ่งล้มเลิกไปแล้ว เพราะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนถล่มทลาย
อย่างไรก็ตาม การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ ครั้งนี้ ยังเป็นแค่ขั้นทดลอง 30 วันเท่านั้น หลังจากนั้นจะประเมินผลอีกที
ฟังดูแล้วก็แปลกดี ทำไมต้องทดลอง จะทดลองอะไร เพราะไม่ต้องทดลองก็รู้อยู่แล้วว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์แน่นอน เพราะเสียค่าโดยสารค่าผ่านทางถูกลง ส่วนหน่วยงานเจ้าของโครงการก็จะสูญเสียรายได้ ซึ่งรัฐอาจจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้
ดังนั้น หากตั้งใจจะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนจริงๆ ไม่ใช่แค่สร้างผลงานชั่วครู่ชั่วยาม ก็ควรจะลดเป็นการถาวรไปเลย เพราะประชาชนได้ประโยชน์แน่ๆ
ขณะเดียวกัน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จะขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ 10 บาท จากดินแดงไปถึงดอนเมือง และ 5 บาทจากดอนเมืองไปถึงอนุสรณ์สถาน
ค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ปัจจุบันจากดินแดงถึงดอนเมือง 70 บาท จากดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถาน 30 บาท ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมจะปรับขึ้นเป็น 80 บาท และ 35 บาทตามลำดับ
ถือว่า เป็นค่าผ่านทางที่แพงมาก เทียบกับระยะทางสั้นๆ จากดินแดงถึงดอนเมือง 15.4 กิโลเมตร และจากดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถาน 5.7 กิโลเมตร รวม 21.1 กิโลเมตร ค่าผ่านทาง 115 บาทแพงกว่ามอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-พัทยาระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ค่าผ่านทางสูงสุด 105 บาทเท่านั้น
ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เป็นทางบังคับ ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้เส้นทางนั้น เพราะถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งเคยเป็นไฮเวย์หรือทางด่วนที่อยู่ข้างล่าง ถูกทำให้หมดสภาพทางด่วนตั้งแต่มีการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยทุบสะพานลอยข้ามแยกงามวงศ์วาน แยกหลักสี่ เดิมจะต้องทุบสะพานลอยข้ามแยกลาดพร้าวด้วย แต่ถูกประชาชนคัดค้านจึงไม่กล้าทุบ
สภาพการจราจรบนถนนวิภาวดีที่ติดขัด อันเนื่องมาจากสะพานลอยถูกทุบทิ้ง และถนนถูกบีบให้แคบลงจากเสาตอม่อ และทางขึ้นลงดอนเมืองโทลล์เวย์ถูกกำหนดไว้แล้ว ในสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งได้รับอนุมัติในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อบีบบังคับทางอ้อมให้ประชาชนต้องยอมเสียค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์แลกกับความสะดวก
นโยบายลดค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ผ่านมา ไม่เคยนำอัตราค่าผ่านทางของดอนเมืองโทลล์เวย์มาดูว่าแพงเกินไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่ กรมทางหลวงเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับดอนเมืองโทลล์เวย์ รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางรวดเดียว 10 บาทในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ด้วย
จริงอยู่ที่ว่า การขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน หากไม่ให้ขึ้นก็จะเป็นข้อพิพาทที่เอกชนอาจนำไปฟ้องร้องได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เคยมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับเอกชนผู้รับสัมปทานขนส่งมวลชนรายอื่นๆ หากคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากค่าผ่านทางแพงมหาโหดของดอนเมืองโทลล์เวย์ ก็น่าจะเจรจาต่อรองกับบริษัทให้ลดค่าผ่านทางลงมาได้ เหมือนที่เคยทำกับเอกชนรายอื่นๆ มาแล้ว
หรือนายศักดิ์สยามไม่รู้ เพราะไม่มีใครรายงานว่า ดอนเมืองโทลล์เวลย์กำลังจะปรับค่าผ่านทางอีก 10 บาทในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สวนทางกับนโยบายของตัวเองที่จะลดค่าบริการระบบขนส่งมวลชนเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน
แปลกแต่จริง การขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ แม้จะเป็นไปตามสัญญา แต่ก็ประจวบเหมาะกับที่มาขึ้นค่าผ่านทางได้สำเร็จ ปราศจากอุปสรรคในยุคที่พรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงคมนาคม คือ ในยุคที่นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และในยุคนี้ที่นายศักดิ์สยาม เป็นรัฐมนตรีคมนาคม